'ขุนคลัง' เคาะจีดีพีไทยปีนี้โตเต็มสูบที่2.7% จ่อผุดมาตรการแก้หนี้รถกระบะ-บ้าน หนุนต่างชาติเช่าที่99ปี

“ขุนคลัง” เคาะเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตเต็มสูบที่ 2.7% หวังปีหน้าฟ้าใหม่เข็นไปได้ถึง 3% ชี้เงินเฟ้อไทยควรอยู่ที่ 2% ปักธงแก้หนี้ครัวเรือน ฟุ้งถกแบงก์ชาติ-สมาคมธนาคารไทย เร่งออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ พุ่งเป้าหนี้รถกระบะ-หนี้บ้าน หนุนเปิดช่องต่างชาติเช่าที่ดินยาว 99 ปี กระตุ้นลงทุน

30 ต.ค. 2567 -นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the  Future” ในงานประกาศรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (CEO Econmass Awards) ว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ แต่มองว่าควรจะขยายตัวได้มากกว่านี้ หลังจากในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยายตัวค่อนข้างมาก โดยปีที่ผ่านมาจีดีพีเติบโตได้แค่ 1.9% เท่านั้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยมองว่าควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอย่างต่ำควรอยู่ที่ 2% ดังนั้นเราจำเป็นต้องพิจารณารอบด้านว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพอะไร และต้องแก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องมองเงื่อนไขที่จะเดินไปข้าวหน้า ซึ่งเรียกความความท้าทายและโอกาสที่จับต้องได้

ปีนี้เดาว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ คิดว่ามันควรจะมากกว่านี้ แต่มีน้ำท่วมเข้ามาแทรก ส่วนปี 2568 หากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวน่าจะได้ถึง 3% บวกลบ ซึ่งผมคิดว่า 3% มันเหมือนกับการอยู่ไปแบบไม่ได้มองว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง เราก็ยอมรับได้ แต่ก็คิดว่ามันควรจะขึ้นไปได้มากกว่านี้ แต่เราอาจจะมองลึกไปถึงตอนที่เศรษฐกิจเคยขยายตัวได้ถึง 5% เศรษฐกิจมันโตมาในระดับหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ที่ 3.5%” นายพิชัย กล่าว

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจุบันได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 89% ของจีดีพี หรือ 12 ล้านล้านบาท จากก่อนหน้านี้เคยขึ้นไปอยู่มากกว่า 90% ของจีดีพี ซึ่งมอว่าไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้นซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนปรับลดลงมานี้ ไม่ได้มาจากการแก้ปัญหา แต่เป็นเพราะมูลค่าจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและภาคเอสเอ็มอี สะท้อนว่า คนที่เป็นกำลังของประเทศกำลังประสบปัญหาหนี้ท่วม ส่วนหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 65-66% โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงเกินกว่ากรอบที่ 70% ต่อจีดีพี

ด้านนโยบายการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยก่อนหน้านี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50% เป็นระยะเวลานาน แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ปรับลดต่ำลงมาอีก

“คนที่มีหนี้เยอะก็อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ คนให้เงินให้สินเชื่อก็อยากจะได้ดอกเบี้ยสูง ดังนั้นสภาพคล่องจึงดูเหมือนหายไปจากตลาด แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะปัญหาที่แท้จริงคือคนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ไม่ได้เป็นเพราะเราไม่มีสภาพคล่อง จริง ๆ แล้วเรามีสภาพคล่องเกินด้วยซ้ำ ขณะที่การลงทุนของไทยก็มีการลงทุนน้อย เราจึงตกอยู่ในฐานะที่เรียกว่า เป็นเศรษฐี แต่ไม่มีอนาคต เนื่องจากไทยมีการลงทุนต่ำ ซึ่งแตกต่างจากหลาย 10 ปีที่ผ่านมา” นายพิชัย กล่าว

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น มองว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด แต่ภาระต้องลด หนี้เท่าเดิม หรือลดลงนิดหน่อย แต่ภาระการจ่ายหนี้ต้องลดลง ให้คนมีโอกาสที่จะใช้จ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมา ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้รถกระบะ และหนี้ที่อยู่อาศัย โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น

ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีความต้องการเข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก คิดเป็นวงเงินหลายแสนล้านบาท และต้องการลงทุนในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาปักฐานการลงทุนในไทยหากมีสัญญาเช่าที่ดินที่นาน เช่น 99 ปี ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี แต่หากไม่มีสัญญาเช่าที่ดินที่นานขนาดนี้ ก็อาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเกิดยากขึ้น

“99 ปี คือ ในต่างประเทศ เขาเปิดโอกาสให้ต่างชาติใครอยากซื้อที่ดินก็ซื้อได้เลย ส่วนการเช่า ถ้าจะเอาที่เช่าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของการเช่ายาว เพื่อมีสิทธิ์ในที่ เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่จะนำไปขอกู้กับสถาบันการเงินได้ แสดงว่ามีสิทธิในการใช้ ไปแบงก์กู้ได้ อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปที่ต่างชาติ อย่างที่ดินของรัฐที่เยอะนั้น ก็เอามาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็ให้เช่าในราคาถูกระยะเวลานาน” นายพิชัย ระบุ

เพิ่มเพื่อน