“จุลพันธ์” ปัดคอมเม้น “แบงก์ชาติ” ส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยเพิ่ม โยนเป็นหน้าที่หน่วยงานต้องพิจารณา พร้อมแจงคุย “นายกฯอิ้ง” นอกรอบ เห็นตรงกันต้องเข็นมาตรการบูมเศรษฐกิจปลายปี หวังรักษาการเติบโต หลังประเมินจีดีพีปี 67 โตแค่ 2.7%
29 ต.ค. 2567 -นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 พลาดเป้าหมายราว 4,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายลดภาระค่าครองชีพของปรนะชาชน ผ่านการดูแลเรื่องราคาพลังงาน ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต พลาดเป้าหมายกว่า 28,000 ล้านบาท รวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าได้รับผลกระทบ แต่ยืนยันว่า การจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้าหมายดังกล่าวไม่มีผลกระทบใด ๆ และไม่มีนัยสำคัญกับการบริหารงานภายใต้ส่วนที่รัฐบาลมีกรอบอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้ ยอมรับว่าแรงกดดันเรื่องค่าเงินมีความเบาบางลง ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะต้องมาดูแนวทางของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีสัญญาณที่เป็นบวก ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลเอง ก็พร้อมจะใช้กลไกด้านการคลัง ผ่านการบริหารจัดการเก็บรายได้ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ไม่มีภาวะสะดุดติดขัด เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป
อย่างไรก็ดี กรณีที่ ธปท. ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้น รมช.การคลัง ระบุว่า ได้รับทราบจากข่าวเช่นกัน และส่วนตัวคงไม่กล้าให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะพิจารณา
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ได้มีการหารือนอกรอบกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเห็นสอดคล้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อรักษาโมเมนตั้มการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีให้อยู่ในจุดที่น่าพอใจ
“จำเป็นจะต้องมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นในช่วงปลายปีเพื่อรักษาโมเมนตั้มของเศรษฐกิจให้ตัวเลขอยู่ในจุดที่น่าพอใจ คงยังไม่ตอบว่าเท่าไหร่ แต่จะอยุ่ในจุดที่สามารถสร้างเซ็นทิเม้นเชิงบวกให้กับตลาดได้อย่างแน่นอน เพราะมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้หากไม่มีมาตรการอะไรเติมเข้าไปเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% แต่รัฐบาลเห็นว่าหากมีมาตรการเพิ่มเติมก็จะส่งผลเชิงบวกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องขอกลับไปดูก่อนว่าจะใช้มาตรการอะไรและทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับความกังวลจากการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จะส่งผลต่อความเสี่ยงทางด้านการคลังนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ยืนยันว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการจะไม่กระทบกับความเสี่ยงทางการคลังอย่างแน่นอน เพราะแต่ละโครงการที่จะทำมีขนาดหลักพันล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้ใช่ขนาด 5 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท และการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดก็ยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้ผ่านการพิจารณาไปแล้ว เพียงแต่จะต้องมาพิจารณาปรับให้แต่ละมาตรการที่ทำต้องเกิดผลคุ้มค่า ดังนั้นไม่มีการขาดดุลเพิ่มขึ้น หรือต้องกู้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยยอมรับว่าประเด็นที่รัฐบาลคิดหนัก คือ เครื่องมือที่มีอยู่จะใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดผลบวกที่สุด ในจังหวะที่เหมาะสมที่สุด