ส่งออกไตรมาส 4 ส่อแผ่ว

29 ต.ค. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.ย. 2024 ยังขยายตัวบวกที่ 1.1% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา แต่ต่ำกว่า 3.0% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ที่ตลาดคาดการณ์ โดยการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัว 25.5% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา โดยขยายตัวได้ในทุกตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้การส่งออกยางพาราขยายตัวได้ 47.4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในเดือน ก.ย. 2023 และการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้น 15.7% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา จากความต้องการยางล้อและถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยกดดันการส่งออกในเดือน ก.ย. 2024 มาจากน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลง -95.3% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา โดยเป็นผลจากปัจจัยฐานของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงเดือน ก.ย. 2024 ถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงเป็นสำคัญโดยเฉพาะในตลาดจีน นอกจากนี้ การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ หดตัว -9.8% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ส่วนหนึ่งถูกฉุดรั้งจากการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ที่ลดลงท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาคดังกล่าวที่ยังปะทุอยู่

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังจีนในเดือน ก.ย. 2024 หดตัว -7.8% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา หลังขยายตัวไปในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกผลไม้ที่หดตัวลง -21.6% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ลำไยสด จากสภาพอากาศที่แปรปรวน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนแม้หักการส่งออกผลไม้ก็ยังติดลบ -4.7% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา สะท้อนอุปสงค์ในตลาดจีนที่อ่อนแอ ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลง ตลอดจนการปรับห่วงโซ่การผลิต จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

การส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าช่วง 9 เดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศที่ยังคงอยู่ ประกอบกับแรงกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในตลาดจีน โดยดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก (New export order) ของโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน 

นอกจากนี้ การส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือน ต.ค. หดตัว -2.9% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2024 แม้การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ยังขยายตัวดี

นโยบายกีดกันการค้ากับจีน โดยสงครามการค้าอาจรุนแรงขึ้นหากสงครามการค้ารอบใหม่เกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ฯ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2024 อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการทางการค้าจะยกระดับขึ้นในปี 2025 แต่อัตราการขยายตัวการส่งออกไปสหรัฐฯ คงไม่เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ซึ่งอยู่ที่ 12.5% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา มากนัก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตชะลอลงและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 2.5% โดยในไตรมาสที่ 4/2024 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยหากมีความยืดเยื้อหรือผลกระทบเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภาคกลางและใต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีกว่าคาด หากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2024 พบว่า ขยายตัวสูงสวนทางการส่งออกที่ 9.9% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา จากการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวถึง 910.8% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากจีนก็สูงขึ้นเช่นกัน อาทิ ของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมดุลการค้าไทย (ตามฐานศุลกากร) ในปี 2024 จะยังติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 

เพิ่มเพื่อน