ส่งออก ก.ย.67 มูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.1% บวก 3 เดือนติดต่อกัน เหตุส่งออกเพิ่มทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม รวม 9 เดือน มูลค่า 223,176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.9% คาด 3 เดือนสุดท้าย ยังเติบโตดี เป้า 2% ทำได้แน่ ได้ลุ้นนิวไฮใหม่ ทั้งเงินเหรียญสหรัฐ และเงินบาทที่จะทะลุ 10 ล้านล้านบาท
28 ต.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ย.2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.1% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 889,074 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 886,336 ล้านบาท เกินดุลการค้า 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 2,738 ล้านบาท รวม 9 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออก มีมูลค่า 223,176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 7,957,895 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 229,132.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 8,264,589 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,956.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 306,694 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.5% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 7.8% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และผักกระป๋องและผักแปรรูป ทั้งนี้ 9 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.4%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 9 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.8%
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัว ตลาดหลัก เพิ่ม 2.6% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 18.1% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 4.1% และ CLMV เพิ่ม 8.3% ส่วนจีน ลด 7.8% ญี่ปุ่น ลด 5.5% อาเซียน (5) ลด 6.7% ตลาดรอง เพิ่ม 1.3% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 12% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 3.5% แอฟริกา เพิ่ม 1.6% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 15% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 29.3% ส่วนเอเชียใต้ ลด 1.6% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 9.8% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 39.3%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือน คือ ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค. คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย โดยหาก 3 เดือนสุดท้าย ถ้าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,533 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะทำได้ 2% และมูลค่าทั้งปีจะอยู่ที่ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำนิวไฮมูลค่าการส่งออกอีกครั้ง หลังจากเคยทำไว้แล้วเมื่อปี 2566 ที่ 287,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 2567 กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการนัดหมายหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินแนวโน้มและสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะประเมินเป้าหมายการทำงานอีกครั้ง และจะแจ้งให้ทราบต่อไป
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงรับออเดอร์ ทำการผลิต และส่งมอบ หากตัวเลขการส่งออกทำได้เฉลี่ยเท่ากับปีที่แล้ว การส่งออกปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2% แน่นอน และตัวเลขการส่งออก ก็จะทำนิวไฮ โดยจะนิวไฮทั้งเงินเหรียญสหรัฐ และเงินบาท โดยเงินบาทใช้สมมติฐานที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็จะทำตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท ส่วนปัญหาการส่งออก มองว่า ค่าเงินบาทที่อยู่ที่ 33.5-33.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยังบริหารจัดการได้ เพราะเอกชนได้ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว และถ้าอยู่ระดับนี้ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเกิน 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐขึ้นไป ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการส่งออก และดีต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2568 สำหรับเรือ ค่าระวาง ตู้คอนเทนเนอร์ ตอนนี้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด