ธนาคารออมสิน ยังคงยืนหยัดและเดินหน้าภารกิจ “ธนาคารเพื่อสังคม” โดยในปี 2567 ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2.การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3.การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่มเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการเงิน 4.การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
5.การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6.การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7.การพัฒนาชุมชน 8.การส่งเสริมการออม 9.การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10.การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) ซึ่งธนาคารออมสินสามารถเข้ามาทำภารกิจเพื่อสังคมได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ด้วยการปรับตัวชี้วัดของธนาคารที่ไม่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการทำกำไรเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การปรับตัวชี้วัดไม่ใช่การลดกำไรลง แต่เป็นการปรับ KPI เพื่อให้ธนาคารออมสินสามารถเดินหน้า Social Impact ได้อย่างเต็มกำลัง เพราะการจะทำภารกิจในส่วนนี้ได้ก็ต่อเมื่อไม่กำหนด ให้เรามีกำไรในระดับที่เหมาะสม และออมสินก็เคลื่อนที่ด้วย Dual Vision คือการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการมุ่งสู่การเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม (Creative Social Value: CSV) ที่เป็นการเอาปัญหาเชิงสังคมใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ โครงการ ตลอดจนกระบวนการทำงานของออมสินในทุกมิติ และปรับการทำธุรกิจของธนาคารเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางสังคมให้ยั่งยืนมากขึ้น
โดยธนาคารเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมอย่างต่อเนื่องในอนาคต ด้วยการจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ลูกค้ารายย่อยอย่างยั่งยืน การขยายผลโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ซึ่งธนาคารออมสินคาดหวังที่จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาที่ครบทั้ง 3 แกน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้านมิติการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
“ปีนี้ออมสินคาดว่าจะสามารถสร้าง Social Impact ได้ราว 20,000 ล้านบาท แต่ทุกปีเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างน้อยต้องสร้าง Social Impact ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาททุกปี ทั้งหมดจะถูกส่งไปช่วยในมิติต่างๆ ทั้งประชาชนที่มีรายได้น้อย กลุ่มฐานราก และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งหมด เราเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม จึงต้องยืนยันให้ได้ว่าเราอยากทำอะไร จะวัดอย่างไร จะตั้งเป้าหมายว่าแต่ละปีต้องช่วยคน ช่วยสังคมเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขที่ตกผลึกคือ 15,000 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่จะออกจากธนาคารออมสินผ่านกระบวนการ วิธีการต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการแก้หนี้ มาตรการยกหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย การกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ เป็นต้น” วิทัย ระบุ
วิทัย ยืนยันว่า จากนี้ไปเป้าหมายของ ธนาคารออมสิน ไม่ใช่กำไรเป็นหลัก!! โดยการเติบโตของกำไรจะอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสมเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญคือการช่วยเหลือสังคมผ่านกระบวนการ CSV ซึ่งออมสินขับเคลื่อนเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคม (Social Mission Integration) ที่ออมสินยังคงเดินหน้าทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้น แต่เอากำไรมาแชร์กันระหว่างองค์กรและสังคม ทำให้ทุกส่วนเดินหน้าไปได้ด้วยกันทั้งหมด
เพราะถ้าหากดูจากผลการดำเนินงานแล้วจะพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ธนาคารมีกำไรแล้วกว่า 18,000 ล้านบาท และในปี 2567 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรประมาณ 25,000-27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งประเมินว่าเงินสำรองส่วนเกินในระดับดังกล่าวจะสามารถรองรับหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ได้ราว 100,000 ล้านบาท
ไม่ใช่ว่าออมสินจะไม่กำไร เพียงแต่เราทำกำไรในระดับที่เหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องกำไรขนาด 33,000 ล้านบาทเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ผมมองว่าสิ่งที่ต้องการของยุคเศรษฐกิจและสังคมในขณะนี้ คือเราต้องการ Social Impact ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างพลังบวกให้กับชุมชน สังคม และคนฐานราก ที่เวลาทำก็ต้องวัดผลความสำเร็จได้จริง ไม่ใช่แค่ดำเนินการผ่านการออกข่าวประชาสัมพันธ์ การลงนามความร่วมมือกันเท่านั้น เราไม่อยากเห็นแค่เรื่องพวกนี้ ดังนั้นออมสินจึงเดินหน้าทำเรื่อง Social Impact อย่างจริงจัง ผ่าน CSV มาโดยตลอด ซึ่งหลักของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การลดตัวเลขกำไร แต่ยืนยันว่ามันอยู่ที่การขยาย Social Impact ซึ่งหลังจากนี้ออมสินจะทำภารกิจตรงนี้ได้ดีมากขึ้น เพราะเราไม่ถูกวัด KPI จากตัวเลขกำไรแล้ว
โดยสมดุลใหม่ในการทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดแห่งความยั่งยืน (Triple Bottom Line) ของธนาคารออมสิน ประกอบด้วย Profit (ผลกำไร) ซึ่งเดิมออมสินเคยวางน้ำหนักในเรื่องของกำไรไว้ใหญ่พอสมควร เพราะเราจำเป็นต้องกำไรสูง แม้ที่ผ่านมาจะบอกว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไม่จำเป็นต้องทำกำไรสูง แต่ท้ายที่สุดแล้ว KPI ก็วัดกันที่กำไร ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำกำไร แต่ปัจจุบันเมื่อกระทรวงการคลังมีการปรับตัวชี้วัดให้ออมสินใหม่ การทำกำไรจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเหมือนที่ผ่านมา, People (ผู้คน) มุ่งเน้นการทำงานที่ช่วยเหลือสังคม และประชาชนแบบที่มี Impact มากขึ้น และ Planet (โลก) ที่ผ่านมาธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่อง net zero และยังพร้อมยืนยันจะเน้นเรื่องการทำ Social Impact ซึ่งวันนี้ออมสินอยู่ในจุดที่สามารถทำกำไรให้เล็กลง และเอาส่วนที่เกินมานี้ไปช่วย People ให้ใหญ่ขึ้น!!
วิทัย กล่าวว่า เราเคลื่อนที่มาแล้วกับบทบาทการสร้าง Social Impact เพื่อปลายทางในการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมที่กว้างขึ้น เป็นการต่อยอดจาก 3 ภารกิจหลักที่เราทำอยู่ นั่นคือ การดึงคนเข้าสู่ระบบ ที่ออมสินมองว่าต้องไม่ใช่แค่การอบรมและให้ความรู้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการกระโดดลงไปช่วยเหลืออย่างจริงจัง ตัวอย่างที่ได้ทำมาคือ สินเชื่อโควิด-19 ซึ่งออมสินได้อนุมัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากหลายล้านคนที่ไม่มีเครดิต ไม่สามารถกู้เงินได้เลย ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก ผ่านการผ่อนเกณฑ์การให้สินเชื่อ ทั้งที่รู้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในส่วนนี้จะสูงเกินจริง แต่ตรงนี้จะช่วยทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ธนาคารออมสินยอม!! โดยการลดกำไรลงเพื่อมาช่วยกลุ่มนี้ เพราะเราเชื่อมั่นว่าจะมีบางคนที่รอดชีวิตต่อไป และสามารถกลับมาได้โดยที่ไม่เป็น NPL ส่วนที่พลาดเป็น NPL จริงๆ ออมสินก็เอากำไรจากธุรกิจใหญ่ซึ่งมากเกินไปมารองรับ นี่คือ Big Concept
นอกจากนี้ยังมีภารกิจแก้ปัญหาหนี้สิน การยกหนี้ ซึ่งสามารถช่วยให้ลูกหนี้ปลดหนี้ได้แล้วกว่า 800,000 ราย รวมทั้งได้มีการปรับเกณฑ์เรื่องการฟ้องล้มละลาย ปรับเกณฑ์เรื่องการฟ้องแพ่ง ซึ่งเป็นเกณฑ์ภายใน ให้เรื่องนี้เกิดได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกับ “ผู้ค้ำประกัน” แต่การดำเนินการทั้งหมดจะต้องระวังเพื่อไม่ให้เกิดภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ตลอดจนภารกิจในการสร้างงานสร้างอาชีพ ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย
และล่าสุด มาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วม ด้วยการประกาศขยายระยะเวลามาตรการพักหนี้อัตโนมัติ จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ใน 43 จังหวัด 5,515 หมู่บ้าน โดยประเมินว่าจะมีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการพักหนี้อัตโนมัตินี้ 140,000 บัญชี คิดเป็นเม็ดเงินที่ธนาคารออมสินลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
ธนาคารตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อขยายผลการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถทำภารกิจและโครงการช่วยเหลือประชาชนและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้น ผ่านบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ 1.บทบาทการเพิ่ม/ขยายโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง 2.บทบาทการแก้ปัญหาหนี้สิน 3.บทบาทการพัฒนาชุมชน/สังคม และ 4.บทบาทการสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนขยายผลการสร้าง ทั้งในเชิงลึกและวงกว้างมากขึ้น เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนว่าบทบาทการช่วยเหลือสังคมด้านนี้มีความสำคัญเหนือกว่าภารกิจการสร้างอัตรากำไรทางธุรกิจ
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า นี่คือผลกระทบเชิงบวกทางสังคมที่แท้จริง ที่ธนาคารออมสินได้พยายามเดินหน้าผลักดันอย่างต่อเนื่อง จากที่ช่วยในภาพกว้างๆ ก็ไปสู่การกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งแต่ในพื้นที่ขนาดเล็กๆ จนขยายใหญ่ขึ้น จากภารกิจเล็กๆ สู่ภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น เพราะธนาคารออมสินเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า จากสิ่งที่ทำทั้งหมดจะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราต้องการสร้าง Social Impact ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การเข้าไปโปรยแล้วก็หายไป ซึ่งสุดท้ายนั่นคือสิ่งที่จะมองไม่เห็น!!
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัท ผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 2.บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 17,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการโอนหนี้เพิ่มเติมอีกในต้นปี 2568 รวมเป็นหนี้ที่โอน 400,000 บัญชี มูลหนี้ราว 35,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 440,000 บัญชี ซึ่งการโอนหนี้ไปอยู่กับ ARI-AMC นั้นจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้
3.บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน Good Money by GSB ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวในช่วงต้นเดือนหน้า และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2568 และ 4.บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร ที่คาดว่าจะได้เห็นภายในปี 2568
ส่วนประเด็นเรื่องธุรกิจธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น วิทัย ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการธนาคารออมสินได้พิจารณาเรื่องนี้ และจากการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบแล้ว ออมสินตัดสินใจไม่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่มองว่า Virtual Bank นั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจการเงินเกิดการปรับตัวและพัฒนามากขึ้น ซึ่งธนาคารออมสินก็มีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น ทั้งการเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล AI และ Digital Lending
“ออมสินเลือกที่จะใช้การปรับตัวเพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าเราสู้ได้ และไม่กังวลเกี่ยวกับธุรกิจ Virtual Bank ที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกๆ มิติ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเพื่อช่วยเหลือให้สังคมดีขึ้น”
อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact) ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงขอเชิญชวนเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”.