การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งสอบเหตุถังบรรจุภัณฑ์ระเบิดภายใน บริษัท เซียงนัน เฟอรัส เมทัล จำกัด โรงงานสกัดหลอมโลหะในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง พร้อมสั่งปิดโรงงานบางส่วน
26 ต.ค. 2567 – นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าได้เกิดเหตุถังบรรจุภัณฑ์ระเบิดภายใน บริษัท เซียงนัน เฟอรัส เมทัล จำกัด โรงงานสกัดหลอมโลหะในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง เลขที่ 888/888 หมู่ที่ 8 ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บหลายคน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุเกิดจากคนงานเติมสารเคมีเกินเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีรุนแรง กนอ. ได้สั่งการให้โรงงานหยุดประกอบกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว พร้อมเร่งตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
“กนอ. มีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมยืนยันจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ทั้งนี้ กนอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ กนอ.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ใบอนุญาต ในการเปิดกิจการ โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ยื่นขอประกอบกิจการเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 และเริ่มประกอบกิจการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ใบอนุญาตเลขที่ 2-61-0-301-00065-2567 ทั้งนี้ กนอ.จะดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุของอุบัติเหตุโดยละเอียด ตรวจสอบความเสียหาย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อกำกับดูแลโรงงานปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นคนงานชาวเมียนมา ตกลงไปในถังผสมสารเคมี เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย เป็นคนงานชาวเมียนมาทั้งหมด มีอาการสาหัส 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย เร่งนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลกบินทร์บุรีเรียบร้อยแล้ว
โดยหลังเกิดเหตุ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งหารือโดยด่วน และสั่งการ กนอ. ปิดโรงงานเพื่อตรวจสอบทันที พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ได้เน้นย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในการนิคมฯ ต้องเข้มงวด ทั้งการกำกับตามระเบียบ ทั้งระบบสาธารณูปโภคภายใน โดยเฉพาะโรงงานส่วนที่ประกอบกิจการที่มีวัตถุอันตราย ไว้ครอบครอง ต้องปฏิบัติตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ อก. ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวดโรงงานลักษณะนี้เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก