สภาองค์กรของผู้บริโภคย้ำข้อเสนอ แก้วิกฤต ราคาน้ำมัน -LPG แพง รัฐบาลต้องหยุดล้วงเงินกองทุนน้ำมัน ด้วยการหยุดต้นทุนราคาเทียม และลดภาษีน้ำมันโดยเร็ว
19 มกราคม 2565 จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันและราคา LPG หรือก๊าซหุงต้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลพยายามตรึงราคาด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันไปชดเชย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบเกิน 8,700 ล้านบาท จนรัฐบาลต้องกู้เงินมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาทมาจัดการหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น
ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงได้จัดเวที ราคาน้ำมันพุ่ง ก๊าซหุงต้มแพง วิกฤตมหากาพย์ผู้บริโภค’ เพื่อพูดคุยและสะท้อนปัญหาการจัดการราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยมีข้อเสนอสำคัญตอกย้ำไปยังรัฐบาล 2 ข้อ ดังนี้ หนึ่ง ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG ที่ผลิตในประเทศแต่ไปอิงราคาตลาดโลกซ้ำยังบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนเทียม เสมือนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศไปเสียทั้งหมด และสอง ปรับลดภาษีน้ำมันให้เป็นธรรมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชนและราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้น
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้สินค้าและบริการต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันในประเทศอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30-40 บาท ในส่วนดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของภาคขนส่ง แม้รัฐบาลจะมีนโยบายตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ราคาก็ยังสูงกว่าราคาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา อินโดนีเซีย เวียดนามราว 2 – 4 บาทต่อลิตร และแพงกว่าประเทศมาเลเซียถึง 13 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนของภาคขนส่งของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
รองเลขา สอบ. กล่าวถึงสาเหตุของน้ำมันแพงว่า มาจากการกำหนดโครงสร้างราคาของรัฐที่ให้อิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์แล้วยังให้บวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศได้พอเพียง จนปัจจุบันยังถึงขั้นเหลือพอส่งออกด้วย
เช่นเดียวกับกรณีก๊าซแอลพีจี รองเลขา สอบ. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้ถึงร้อยละ 91 และนำเข้าเพียงร้อยละ 9 ของปริมาณการจัดหาทั้งหมดของประเทศ แต่รัฐกลับกำหนดโครงสร้างราคาจากโรงกลั่นน้ำมันอิงราคาตลาดโลกและให้บวกค่าขนส่งเทียมเสมือนว่านำเข้ามาจากประเทศซาอุดิอาราเบียทั้งหมด ขณะที่แอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศซึ่งมีต้นทุนราคาต่ำที่สุดเพราะใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบประชาชนก็ไม่ได้มีโอกาสใช้เป็นลำดับแรก เพราะถูกกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อนจนแทบหมด ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว เป็นการตั้งราคาที่กีดกันการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติสาธารณะ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนมากเกินไป และสร้างภาระให้ประชาชน
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. กล่าวเสริมในเรื่องการกำหนดโครงสร้าง ราคาน้ำมัน มีการอ้างอิงจากราคาต่างประเทศว่า การคิดราคาแบบดังกล่าวเป็นการคิดราคาอ้างอิงในอดีตเพื่อจูงใจนักลงทุนในระยะเริ่มต้น เนื่องจากโรงกลั่นของไทยมีไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณมากจนเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างราคาในลักษณะดังกล่าว
“นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะการกลั่นน้ำมันในประเทศทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเราต้องรับมลภาวะเหล่านี้ เพื่อแลกกับการมีโรงกลั่นในประเทศ แต่กลับไม่เคยได้ใช้นำมันในราคาที่ผลิตในประเทศเลย” รสนา กล่าว
นอกจากโครงสร้างราคาเทียมเสมือนว่านำเข้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำมันแพงคือ การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลในอัตราสูง โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รัฐเก็บภาษีน้ำมันมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ไม่เห็นว่ารัฐนำภาษีน้ำมันที่เก็บได้ไปอุดหนุนหรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะแต่อย่างใด ในปัจจุบันเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาสูง รัฐบาลไม่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงแต่กลับใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาแทน ส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่ม 2-3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และอาจกลายเป็นการกู้เงินต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา รสนา เสนอว่า คณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เคยส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 แต่รัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด จึงขอย้ำข้อเสนอที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้และเป็นส่วนที่อยู่ในการดูแลของรัฐ คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันที่มีสถานะติดลบไปแล้วมาอุดหนุนราคาแต่อย่างใด และให้กำหนดราคาน้ำมันที่โรงกลั่นตามต้นทุนที่แท้จริงโดยต้องไม่มีค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายเทียมเสมือนว่ามีการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าการนำเงินมาแจกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum
'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เผยแพร่บทความ 'องุ่นไชน์มัสแคท เมื่อสังคมไทยหยิบไม้บรรทัดคนละอัน'
สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยแพร่บทความ เรื่อง องุ่นไชน์มัสแคท เมื่อสังคมไทยหยิบไม้บรรทัดคนละอัน มีเนื้อหาดังนี้