“กทพ.” กางแผนลุ้นปี 69-70 ศึกษาสร้าง “ทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ” วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ยาว 71 กม. เล็งตอกเสาเข็มแบ่งเป็นเฟส รับแผนแม่บท MR-MAP เชื่อมมอเตอร์เวย์ หนุนระบบราง
23 ต.ค. 2567 – แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการโครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการและถนนเชื่อมต่อ) หรือ ทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ ระยะทาง 71.60 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 109,250 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 95,000 ล้านบาทและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,250 ล้านบาท
ทั้งนี้ปัจจุบันกทพ.ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการศึกษา เนื่องจากการจัดลำดับความสำคัญของโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ ที่อยู่ในความดูแลของกทพ.ยังต่ำมาก คาดว่าหลังจากปี 2576 จะเริ่มนำโครงการนี้มาพิจารณาจัดลำดับความสำคัญใหม่อีกครั้ง เบื้องต้นกทพ.มีแผนจะเริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดของโครงการฯ ภายในปี 2569-2570
ทั้งนี้การศึกษาโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ กทพ.ต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากผลการศึกษาเดิมของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เคยมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯมาแล้วแต่ไม่ได้มีการนำระบบรางเข้าไปรวมในโครงการนี้ ทำให้มีความจำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระบบรางและเพิ่มระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปีครึ่ง
“สาเหตุที่กทพ.เลือกศึกษาโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ เนื่องจากกทพ.ได้รับมอบหมายจากนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ศึกษาเส้นทางนี้ เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพและปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ที่จะให้กทพ.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับแผนแม่บท MR-MAP ด้วย” รายงานข่าวจากกทพ.กล่าว
แหล่งข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ตามปกติของโครงการฯที่กทพ.เคยดำเนินการ มองว่าโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็นช่วง เนื่องจากมีเส้นทางที่ยาวหลายกิโลเมตร โดยกทพ.จะเป็นผู้ลงทุนด้านงานโยธา
ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) มีแนวโน้มที่จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน แต่หากผลการศึกษาประเมินว่าโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ มีความคุ้มค่ามากก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดประมูลให้เอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและงานระบบ O&M เพื่อที่กทพ.สามารถนำงบประมาณไปลงทุนในโครงการฯอื่นๆแทน
อย่างไรก็ตามโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ สอดรับกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีจุดเชื่อมต่อบริเวณ MR10 เส้นทางวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ตามแผนกทพ.จะเป็นผู้ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบรายละเอียดพร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ทล.34-ทล.35
ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) จะดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) MR10 ในเส้นทางวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.32-ทล.305 และ ช่วง ทล.305-ทล.34
นอกจากนี้โครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ มีทางขึ้น-ลง จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.ทางขึ้น-ลง บางหญ้าแพรกเชื่อมต่อถนนสค.2020 2.ทางขึ้น-ลง โคกขามเชื่อมต่อทล.3423 3.ทางขึ้น-ลง บางขุนเทียน-ชายทะเลเชื่อมต่อถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล 4.ทางขึ้น-ลง แหลมฟ้าผ่า เชื่อมต่อถนนคลองสรรพสามิต 5.ทางขึ้น-ลง สุขุมวิท เชื่อมต่อถนนสุขุมวิท และ 6.ทางขึ้น-ลง แพรกษา เชื่อมต่อถนนแพรกษา
สำหรับแนวเส้นทางโครงการทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ มีจุดเริ้มต้นโครงการบนทงหลวงหมายเลข 35 และทางยกระดับพระราม 2 เชื่อมต่อถนนพระราม 2 ที่จังหวัดสมุทรสาครข้ามแม่น้ำท่าจีนและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และมีจุดสิ้นสุดโครงการฯอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเชื่อมต่อกับ MR10 เส้นทางวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศตะวันออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน" ระบุว่าเดิมมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้ทั้งดอนเมืองโทลล์เวย์และ
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง
‘สามารถ’ ชำแหละ ‘ลดค่าผ่านทาง’ แลก ‘ขยายสัมปทาน’ ใครได้ประโยชน์ ?
ใกล้ถึงเวลาจะขึ้นค่าผ่านทางไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือดอนเมืองโทลล์เวย์คราใด ภาครัฐมักจะเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทาง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ