เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้าย

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน รายการ Money Chat ได้ขอความเห็นผมเรื่องเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ซึ่งผมให้ความเห็นไปหลายเรื่องทั้ง วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลกขาลง เศรษฐกิจโลก สงครามในตะวันออกกลาง กระแสเงินทุนไหลเข้า และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้าย บทความวันนี้จึงขอแชร์ความเห็นที่ผมให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เขียนให้คิด” ทราบ

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องบอกว่าเป็นปีที่ทั้งน่าห่วงและเป็นปีแห่งความหวัง ที่น่าห่วงเพราะหลังโควิดเรายังไม่เห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น เพราะปัจจัยลบที่เข้ามากระทบต่อเนื่อง เริ่มด้วยดิสรัปชันต่อห่วงโซ่การผลิตที่ทําให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ เราเห็นเศรษฐกิจจีนชะลอไม่พุ่งทะยานหลังโควิดเพราะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนมีต่อเนื่อง สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้น และล่าสุดสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางที่นับวันจะรุนแรง สิ่งเหล่านี้สร้างข้อจำกัดให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และที่หวังคือ สถานการณ์วุ่นวายเหล่านี้จะเริ่มเสถียร เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวได้กับดิสรัปชันที่เกิดขึ้นและพร้อมไปต่อ สนับสนุนโดยการลดลงของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย นําเศรษฐกิจโลกไปสู่การฟื้นตัวรอบใหม่ นี่คือความหวัง

สำหรับเศรษฐกิจไทยก็คล้ายกัน เราเริ่มปีนี้ด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจไทยทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลใหม่ก็เป็นความหวังว่าจะนําพาเศรษฐกิจฝ่าเคลื่อนลมและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกไปได้ด้วยความจริงจัง ด้วยนโยบายใหม่ๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้เตรียมมาตั้งแต่ช่วงหาเสียง นี่คือสิ่งที่ประชาชนหวัง

ในรายการ Money chat ผมได้ให้ความเห็นไปหลายเรื่องเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ รวมถึงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย บทความวันนี้จึงขอสรุปและเรียบเรียงความเห็นที่ให้ไปในรูปของการถามตอบสองคําถามดังนี้

คำถามแรก มองโอกาสของอัตราดอกเบี้ยขาลง ผลต่อเศรษฐกิจโลกและสงครามในตะวันออกกลางขณะนี้อย่างไร

ในเรื่องนี้ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยโลกขณะนี้เป็นขาลง หลังธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% กลางเดือนที่แล้ว ที่จริงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ธนาคารกลางสหรัฐได้ชะลอไว้ เพราะต้องการให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่อง และเมื่อมั่นใจจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาต้นเดือนที่แล้วก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และที่ลดมากถึง 0.50% ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยประคองภาวะในตลาดเเรงงานที่ขณะนั้นดูอ่อนลง และลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอลงมากกว่าที่อยากเห็น

ข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดเดือนกันยายนออกมาดีกว่าคาด การจ้างงานใหม่มีมากถึง 245,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 4.1 ทําให้สบายใจขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกําลังชะลออย่างที่อยากเห็น คือเป็นแบบ Soft-landing ที่เศรษฐกิจชะลอพร้อมอัตราเงินเฟ้อลดลงและตลาดแรงงานเข้มแข็ง เป็นฉากทัศน์ที่จะทําให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ต่อ ยืนยัน วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง และขนาดการปรับลดดอกเบี้ยแต่ละครั้งของธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นอยู่กับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและภาวะในตลาดแรงงาน ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยขาลงในเศรษฐกิจโลกได้เริ่มแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อไร อย่างไร จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องตามกันทันที ของไทยก็เช่นกัน

อัตราดอกเบี้ยขาลงจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งในแง่การขยายตัวและราคาสินทรัพย์ เราจึงเห็นล่าสุดตลาดหุ้นทั่วโลกปรับสูงขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ลดลงจะทำให้ผลตอบแทนในสินทรัพย์เงินดอลลาร์สหรัฐลดลงตามไปด้วย รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เราจึงเห็นเงินลงทุนเริ่มไหลออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับพอร์ตของนักลงทุนเข้าสู่ตลาดการเงินในภูมิภาคเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจเราก็ได้ประโยชน์ มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า

จากที่การลดดอกเบี้ยจะมีต่อเนื่องตามวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง กระแสเงินทุนไหลเข้าก็จะมีต่อเนื่องเช่นกัน ทําให้เศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์ในแง่สภาพคล่อง ราคาสินค้าสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจก็จะมากขึ้นในแง่เงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาวะฟองสบู่ เป็นสิ่งที่เศรษฐกิจไทยเคยเจอมาแล้วในอดีต เป็นความท้าทายของการบริหารเงินทุนไหลเข้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สําหรับ สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และล่าสุดก็ได้มาถึงจุดที่สงครามเต็มรูปแบบอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในตะวันออกกลาง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก สำหรับช่องทางหลักที่สงครามจะกระทบเศรษฐกิจโลกจะมาจากราคานํ้ามัน และต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามที่พอสบายใจได้ก็คือ การพึ่งพานํ้ามันดิบจากตะวันออกกลางในการใช้พลังงานของโลก ในปัจจุบันได้ลดลงไปมากเทียบกับเมื่อสี่สิบปีก่อน ทําให้สงครามในตะวันออกกลางจะไม่ส่งผลต่อราคานํ้ามันและเศรษฐกิจโลกมากเหมือนในอดีต เห็นได้จากหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ตั้งแต่กลุ่มฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอลเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้ว ราคานํ้ามันในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไม่ไปไหน

คราวนี้ก็น่าจะคล้ายกัน เพราะตลาดนํ้ามันโลกขณะนี้มีตัวช่วยมากที่จะรักษาราคานํ้ามันให้มีเสถียรภาพในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะเกิดสงครามใหญ่ ซึ่งตัวช่วยสําคัญก็คือกําลังการผลิตส่วนเกินที่มีในหลายประเทศที่สามารถเพิ่มการผลิตได้ถ้าจําเป็น สําหรับกรณีเลวร้ายสุดที่จะทําให้ราคานํ้ามันทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก็คือ การปิดช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการระบายนํ้ามันจากตะวันออกกลางสู่ตลาดโลก นี่คือการวิเคราะห์ในตลาดการเงินขณะนี้โดยมีกรณี 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นกรณีฐาน สะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนว่าสถานการณ์ตะวันออกกลางจะไม่เป็นข้อจํากัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้อัตราขยายตัวอาจลดลงเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ ผลของราคานํ้ามันที่สูงขึ้นต่อเงินเฟ้อ และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่อาจชะงักได้เป็นช่วงๆ ถ้าเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว

คําถามที่สอง มองเศรษฐกิจไทยอย่างไรช่วงโค้งสุดท้าย และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

ครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราถูกดึงกลับด้วยปัจจัยลบที่หนาแน่น ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ยังมีข้อจํากัดในการฟื้นตัว ความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศ ทั้งการยุบพรรค และโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีที่กระทบการตัดสินใจของนักลงทุน การเคลื่อนตัวที่ช้าของนโยบายการคลัง และกระบวนการลดหนี้ในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่กําลังเกิดขึ้น ผลคือเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเดียวคือการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยว 25 ล้านคนช่วงครึ่งปีแรก ส่วนอัตราเงินเฟ้อลดลงจากราคานํ้ามันโลกที่ลดลง โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัว 1.9 เปอร์เซ็นต์ และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเป็นร้อยละ 2.5

ช่วงปลายไตรมาสสาม ปัจจัยดึงกลับหลายปัจจัยเริ่มคลี่คลาย ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยและเริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้มแข้งมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ความคลุมเครือของการเมืองในประเทศก็คลี่คลาย มีรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลข้ามขั้วที่นักลงทุนมองว่าจะช่วยทําให้การเมืองมีเสถียรภาพ ที่สำคัญรัฐบาลเริ่มใช้จ่ายและพร้อมใช้จ่ายจากเงินในปีงบประมาณใหม่ นอกจากนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าก็จะเป็นอีกแรงที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นช่วงโค้งสุดท้าย ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจมีมาก และนักลงทุนบางสำนักมองถึงขั้นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้ผ่านจุดตํ่าสุดไปแล้ว

นี่คือภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็มีสองเรื่องใหม่ที่เป็นปัจจัยลบในช่วงโค้งสุดท้าย คือ ราคานํ้ามันที่จะปรับสูงขึ้นจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ที่เศรษฐกิจเราจะอ่อนไหวมากกับราคาน้ำมันที่สูง อีกเรื่องคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภาวะน้ำท่วมที่ยังไม่จบ ซึ่งความเสียหายที่มีก็จะลดทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลง ทําให้เศรษฐกิจปีนี้อาจขยายตัวตํ่ากว่าร้อยละ 2 ได้ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความจําเป็นของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะช่วยลดผลกระทบจากช็อกต่างๆ ที่เข้ามากระทบ และสร้างความสามารถให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้นกับปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ

ทั้งหมดคือความเห็นที่ผมได้ให้ไป.

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

เพิ่มเพื่อน