เร่งเพิ่มประสิทธิภาพMSMEหนุนรายได้ประเทศพุ่ง

อย่างที่ทราบกันดีว่า “ธุรกิจของคนตัวเล็ก” หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise: MSME) เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก เพราะธุรกิจเหล่านี้มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 90% ของธุรกิจทั่วโลก สร้างรายได้ราวครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และยังเป็นแหล่งรองรับแรงงานถึงกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ธุรกิจมีขนาดเล็กทำให้มีอำนาจต่อรองน้อย อีกทั้งหลายแห่งก็เป็นกิจการในครอบครัวที่การบริหารงานยังไม่เป็นระบบนัก ทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานของ MSME ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจากการศึกษาของ McKinsey พบว่า MSME มีประสิทธิภาพเฉลี่ยเพียงครึ่งหนึ่งของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ MSME ในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ประสิทธิภาพจะยิ่งน้อยลงอีก (เพียง 29% เมื่อเทียบกับรายใหญ่) ด้วยช่องว่างที่กว้างเช่นนี้ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพของ MSME เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะประเทศที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของ MSME ได้มาก ก็ย่อมหมายถึงรายได้หรือขนาดเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ผลการศึกษาของ McKinsey ระบุว่า หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ MSME ให้เทียบเท่ากับกิจการขนาดใหญ่ได้จะช่วยให้รายได้ของประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้น 5% และประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 10%

หนึ่งในหนทางที่จะช่วยให้ธุรกิจ MSME เพิ่มประสิทธิภาพ คือ การร่วมมือหรือการทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นช่องทางให้ MSME ได้รับการถ่ายทอดความรู้-เทคโนโลยี ตลอดจนได้เรียนรู้แนวทางการทำงานที่ได้มาตรฐานของบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งมีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายหรือทรัพยากรที่เกื้อหนุนต่อการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ MSME กลุ่มนี้มีโอกาสในการปรับตัวและพัฒนาตนเอง ขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ก็ได้ประโยชน์จากการที่ MSME ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของตนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย ผมขอยกตัวอย่าง MSME ในประเทศต่างๆ ดังนี้

MSME ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น: ซัพพลายเออร์รายกลาง-รายเล็กในอุตสาหกรรม
ยานยนต์ของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพสูงเป็น 2 เท่าของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆเพราะซัพพลายเออร์เหล่านี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ ทำให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมที่สำคัญในการผลิต ยกตัวอย่างเช่น Toyota ที่ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดและได้พัฒนาโปรแกรมการทำงานที่ช่วยให้ซัพพลายเออร์ลดต้นทุนลงได้ถึง 60%

MSME ในอุตสาหกรรมจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ของสหรัฐ: ได้รับผลดีจากการที่บางรายได้เป็นผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ซึ่งนอกจากจะสั่งซื้อคราวละมากๆ แล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ MSME ว่าเป็นผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่บริษัทชั้นแนวหน้าเลือกใช้ รวมทั้งช่วยให้ MSME เข้าถึงผู้ซื้อรายอื่นๆ เช่น ซัพพลายเออร์ของบริษัทเหล่านี้ที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ร่วมกัน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มูลค่าเพิ่มต่อหัวของพนักงานสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ถึง 1.7 เท่า สะท้อนประสิทธิภาพของ MSME ในอุตสาหกรรมนี้ของสหรัฐ

MSME ในอุตสาหกรรมไวน์ของอิตาลี: ตามปกติแล้วอุตสาหกรรมไวน์ในหลายประเทศมักจะมีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ครองตลาด ต่างจากในอิตาลีที่พบว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็น MSME แต่กลับมีประสิทธิภาพสูงกว่า MSME ของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ถึง 1.5 เท่า เนื่องจากอิตาลีมีระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถทำตลาดและสร้างแบรนด์ผ่านการรับรองแหล่งผลิตหรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไวน์ยี่ห้อนั้นๆ รวมถึงแคมเปญ “Made in Italy” โดยมีไวน์ที่ได้รับป้ายดังกล่าวกว่า 500 แบรนด์ หรือราว 42% ของไวน์ที่อิตาลีผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ MSME สามารถส่งออกไวน์ได้ในราคาพรีเมียม

สำหรับประเทศไทย การเพิ่มประสิทธิภาพของ MSME คงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย
ทั้งภาครัฐที่จะช่วยออกแบบนโยบายหรือโครงสร้างที่เอื้อต่อ MSME และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยเป็น “พี่จูงน้อง” ซึ่ง EXIM BANK ก็พร้อมเดินหน้าพาธุรกิจไทยทุกขนาดออกไปโลดแล่นในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพครับ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

เพิ่มเพื่อน