'จุลพันธ์' การันตีดิจิทัลวอลเล็ตเฟส2เกิดแน่!!

“จุลพันธ์” การันตีดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 เกิดแน่!! ประชาชนรอรับเงินหมื่นได้เลย แจงขอถกคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจสรุปแจกเต็มก้อนหรือทยอยจ่าย พร้อมเร่งอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่พัก เตรียมผุด “เที่ยวไทยไปต่อได้” หนุนเที่ยวจังหวัดอ่วมน้ำท่วม ฟุ้งผลงาน 1 ปีรัฐบาลเริ่มผลิดอก หวังช่วยดันจีดีพีปี 2568 เบ่งบานเกิน 3%

18 ต.ค. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ยืนยันว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 จะมาแน่นอน รัฐบาลมีเม็ดเงินที่เตรียมไว้รองรับแล้ว 1.87 แสนล้านบาท แต่รายละเอียดของโครงการจะต้องมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเตรียมจะนัดประชุมในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ ถึงต้นเดือน พ.ย. 2567

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือเกี่ยวกับการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย รวมไปถึงจะมีการรายงานเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างซอฟท์โลน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสิน และมาตรการใหม่ ๆ ที่เตรียมจะนำเสนอ

“ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 มาแน่นอน รัฐบาลคิดโครงไว้หมดแล้ว ส่วนกระบวนการในการพัฒนาระบบหลังจากที่เลื่อนมา เราเห็นกรอบเวลาเห็นภาพที่จะดำเนินการแล้วว่าจะได้ประมาณช่วงไหน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ขอไปหารือในที่ประชุมก่อน หลังจากนั้นจะมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง แต่รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าเม็ดเงิน 10,000 บาทจะถึงมือประชาชนอย่างครบถ้วนแน่นอน ส่วนจะเป็นการจ่ายแบบก้อนเดียว หรือทยอยจ่ายเป็นล็อต ก็ต้องรอไปหารือก่อน” รมช.การคลัง ระบุ

สำหรับผลของการใช้จ่ายจากโอนเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาทนั้น ค่อนข้างกระจายตัวได้ดี มีการใช้จ่ายดี เม็ดเงินหมุนเข้าสู่ระบบค่อนข้างเร็ว สะท้อนจากการค้าขายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศดูคึกคักมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในความสำเร็จตรงนี้ โดยได้เตรียมการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังเร่งพิจารณาวางกรอบอยู่ว่าจะทำอะไรเพิ่มเติม

โดยหนึ่งในมาตการที่เตรียมจะเสนอคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณา คือ มาตรการเที่ยวไทยไปต่อ ซึ่งเป็นชื่อเบื้องต้น โดยหลักการจะให้ประชาชน และบริษัท ห้างร้าน สามารถนำรายจ่ายจากการท่องเที่ยว จัดประชุม สัมมนา ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สามารถมาหักลดหย่อนภาษีได้ เบื้องต้นเสนอไว้ 2 เท่า เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และดึงกำลังซื้อให้กลับไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยหากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นชอบ ก็จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ตามประกาศของ ปภ. รวมถึงจะมีการเสนอมาตรการภาษีสำหรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือทรัพย์สินที่ติดตั้งกับตัวอาคารที่อยู่ในที่ดินมาหักลดหย่อนภาษีได้ ส่วนรายละเอียดขอให้รอการพิจารณาของ ครม. อีกครั้ง เพราะเรื่องมาตรการด้านภาษีคงพูดกันก่อนไม่ได้ เนื่องจากจะมีผลต่อจิตวิทยา คนจะดึงการใช้จ่ายรอ

ทั้งนี้ ยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่ต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยช่วงก่อนปีใหม่คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา และช่วงปีใหม่ก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามออกมาเพิ่มเติมอีก ส่วนรายละเอียดของมาตรการทั้งหมด ยืนยันว่ายังต้องรอหารือและสรุปในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน

“ข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการคนละครึ่ง และโครงการคูณสองนั้น รัฐบาลพร้อมรับมาพิจารณา ไม่ได้ปิดกั้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดติดกับศักดิ์ศรีอะไรขนาดนั้น หากต้องนำโครงการเก่า ๆ มาดำเนินการ เพราะเรามองที่ประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก คนชอบมาถามผมว่าเอาโครงการเก่ามาทำเป็นอะไรไหม ผมอยากชี้แจงว่าถ้าโครงการนั้น ๆ เป็นประโยชน์ก็สามารถนำมาทำได้ ผมไม่ติด” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ส่วนตัวก็อยากให้เติบโตได้ถึง 3% เพราะจะเป็นระดะับที่ส่งผลต่อเนื่องทางจิตวิทยาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนแนวโน้มในปี 2568 นั้น มั่นใจและเชื่อมั่นว่าจีดีพีจะเติบโตได้มากกว่า 3% อย่างแน่นอน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันออกไปตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการผลิดอกออกผล สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาเป็นชิ้นเป็นอัน จากการเร่งผลักดันการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ EEC รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินของภาครัฐผ่านกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนสามารถหมุนเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน