บีโอไอ ดันอุตสาหกรรมแผงวงจร หลังทุน ตปท. ไหลเข้ารวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท ดันไทยผู้นำอาเซียน ชูเวล เทค อิเล็กทรอนิกส์ บิ๊กจีนประเดิมเปิดสายการผลิตเป็นรายแรก
16 ต.ค. 2567 – นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่าตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลก โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก
ทั้งนี้ บริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งโรงงานของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท
โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้น และบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส 2 ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น และจะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศ 40% ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออก 60% ไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 50%
“สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรก นอกประเทศจีน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะผลักดันให้ไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอาเซียนได้”นายนฤตม์ กล่าว