ไม่เกี่ยวการเมืองกดดัน!! “กนง.” สั่งลดอัตราดอกเนี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี แจงหวังช่วยบรรเทาภาระหนี้ พร้อมขยับจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็น 2.7% รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชนช่วยกระทุ้ง พร้อมถกกรอบเงินเฟ้อ
16 ต.ค. 2567 -นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% จาก 2.50% ต่อปีโดยมีผลทันที โดยคณะกรรมการ กนง. เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว
“ยืนยันว่า เป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน คือ 1.สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุด 2.รักษาเสถียรภาพด้านราคา และ 3.ไม่เพิ่มการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่มีแรงกดดันทางการเมือง ส่วนการหารือกับรัฐบาลหารือมาอย่างต่อเนื่อง และการได้ Input จากภาคส่วนต่างๆ เป็นสิ่งที่ธปท.ต้องการ โดยการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการปรับสมดุล การดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน อยากให้กระบวนการที่ปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สอดคล้องกับรายได้และภาระหนี้ของประชาชน โดยอาจไม่ได้เห็นการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะเป็นการลดและดูข้อมูลเพื่อพิจารณา” นายสักกะภพ กล่าว
นอกจากนี้ ยังปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มเป็น 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ขณะที่ปี 2568 อยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% โดยมองว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนซึ่งได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึงเอสเอ็มอียังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
สำหรับการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่ปี 2568คาดว่าจะขยายตัวได้ 2% ส่วนการนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 5.1% และปี 2568ที่ 0.4% ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านคน และปี 2568ที่ 39.5 ล้านคน และราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้และปี 2568จะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากผลของฐาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปีนี้ และปีหน้าที่ 0.9% โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
ขณะที่เรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยภาพจะดูแลในเรื่องเงินเฟ้อระยะยาวและความผันผวนของเงินเฟ้อ โดยต้องยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ความผันผวนมาจากปัจจัยอุปทานและภายนอกเยอะ ดังนั้นเห็นว่ากรอบเงินเฟ้อที่ดีควรมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ เงินเฟ้อไม่ควรอยู่สูงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็น
“เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวตามคาด โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจสมดุลขึ้นในระยะข้างหน้า และมองว่า ครึ่งหลังของปีนี้จีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่าง และไม่สะท้อนความเสี่ยงภาวะเงินฝืด เนื่องจากยังพบการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหลายหมวด และเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ที่ค่ากลางของกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3%” นายสักกะภพ กล่าว
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ ปรับแข็งค่าตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัจจัยเฉพาะในประเทศ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อรวมชะลอลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังสนับสนุนนโยบายของธปท.ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ โดยยังต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476