'นกแอร์' ลุยเพิ่มทุน 5 พันล้าน มั่นใจฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จปี 69 

“นกแอร์” เตรียมเพิ่มทุน 5 พันล้านมั่นใจฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จปี 69 เดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ เล็งเพิ่มฐานการบินที่สุวรรณภูมิ หวังเชื่อมต่อการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ

14 ต.ค. 2567 – นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ตามแผนที่นกแอร์ได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางจะดำเนินการฟื้นฟูกิจการเป็นระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในวันที่ 30 ก.ค.2569 โดยปัจจุบันนกแอร์ยังคงมั่นใจในเป้าหมายดังกล่าว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนกำหนด ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ลดต้นทุนและหารายได้ทุกช่องทาง 

โดยส่งผลให้นกแอร์มีผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2567 โดยมีผลกำไรสุทธิ 734.78 ล้านบาท ถือเป็นการพลิกกลับมามีกำไรจากที่เคยขาดทุนสุทธิ 388.24 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของธุรกิจอีกทั้งยังสามารถชำระหนี้ตามที่ยื่นไว้ต่อศาลล้มละลายกลาง จากจำนวนหนี้ราว 5,400 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือประมาณ 400 ล้านบาท โดยหลังจากนี้นกแอร์ยังมีแผนปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนเพื่อทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์โดยเร็ว

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่าในปี 2568 นกแอร์เตรียมเพิ่มทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดหาเครื่องบินใหม่ รวมไปถึงใช้เพื่อการเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ และชำระหนี้ที่ครบกำหนดในบางส่วน อีกทั้งจะเป็นอีกปีที่นกแอร์ยังคงปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนวางแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ โดยเฉพาะตลอดอินเดียที่ถือเป็นตลาดศักยภาพสูง มีดีมานด์การเดินทางจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน นกแอร์เตรียมเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ เข้ามารองรับการให้บริการในปี 2568 โดยฝูงบินเหล่านี้จะมาเสริมเส้นทางบินในประเทศที่มีดีมานด์การเดินทางสูง อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ อีกทั้งนกแอร์ยังเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ ในเส้นทางยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น และหลายเมืองในอินเดีย 

“ในช่วงที่ผ่านมาเราปรับแผนธุรกิจเยอะมาก นำเครื่องบินที่ไม่สร้างรายได้ออกไป และเพิ่มเครื่องบินรุ่นที่ได้รับความนิยมในตลาดเข้ามาเพิ่ม โดยเน้นใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนในการซ่อมและจัดหาอะไหล่ โดยภายหลังที่เรานำเอาเครื่องบิน Q400 ออกไปก็ลดขาดทุนได้ทันที เพราะไม่ต้องเสียเงินกับการซ่อมบำรุง และลดเรื่องการดีเลย์ออกไปได้ด้วย” นายวุฒิภูมิ กล่าว

ขณะเดียวกันนกแอร์ยังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรสายการบินอื่นๆ เพื่อทำโครงข่ายเส้นทางบินร่วมกัน เนื่องจากนกแอร์มีแผนไปเปิดจุดบินเพิ่มเติมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2568 เพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางเชื่อมต่อการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ โดยนกแอร์มีเป้าหมายเป็นโครงข่ายรองรับการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปในจุดบินต่างๆ ภายในประเทศ

ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ปลายปีนี้ ปัจจุบันนกแอร์มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) อยู่ที่ราว 85% คาดว่าในช่วงไฮซีซันจะมีเคบิ้นแฟกเตอร์สูงในระดับ 85 – 90% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวตามปกติ ประกอบกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถชดเชยการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนที่ยังไม่กลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศตามปกติ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกรัฐบาล เผยตัวเลขชี้ท่องเที่ยวไทยคึกคัก

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2567)  มีนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล