'ทางหลวง' ลุยขยายถนนทางหลวง340 สายบางบัวทอง–สุพรรณบุรี

‘กรมทางหลวง’ ทุ่ม1,375 ล้านบาท เร่งเครื่องขยายทางหลวง 340 สายบางบัวทอง – สุพรรณบุรี เป็น 6 ช่องจราจร เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางสู่ภาคเหนือ เน้นแผนจัดการจราจร คล่องตัว และปลอดภัย

5 ต.ค. 2567 – นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 สายบ.สาลี – สุพรรณบุรี เพื่อยกระดับเส้นทางสายหลักเชื่อมโยงระหว่างภาค เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง             และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเดินทางสู่ภาคเหนือ

สำหรับทางหลวงหมายเลข 340 สายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนนิยมใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านสุพรรณบุรี ชัยนาท มุ่งสู่ภาคเหนือหลายจังหวัด ซึ่งทางหลวงสายนี้สร้างมานานกว่า 30 ปี กรมทางหลวงได้บูรณะปรับปรุงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการจราจรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับทางหลวงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้เกิดความชำรุดเสียหายหลายแห่ง กรมทางหลวงโดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 จึงดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 สายบ.สาลี – สุพรรณบุรี ระหว่าง กม.48+841 ถึง กม.65+600 รวมระยะทางทั้งหมด 16.459 กิโลเมตร(กม.) พื้นที่อำเภอบางปลาม้า และอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 สาย บ.สาลี – สุพรรณบุรี ตอน 1 ระหว่าง กม.48+841 – กม.57+250 รวมระยะทาง 8.409 กม. ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท เอส.เค.วาย. คอนสตรัคชั่น จำกัด เริ่มต้นสัญญาวันที่ 13 กันยายน 2567 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 สิงหาคม 2570 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน วงเงินงบประมาณ 686,761,000 บาท และ2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 สาย บ.สาลี – สุพรรณบุรี ตอน 2 ระหว่าง กม. 57+250 – กม. 65+600 รวมระยะทาง 8.350 กม.ดำเนินการก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้า ซีทีทีพีดี เริ่มต้นสัญญาวันที่ 18 กันยายน 2567 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 2 กันยายน 2570 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน วงเงินงบประมาณ 689,596,000 บาท

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 สาย บ.สาลี – สุพรรณบุรี เป็นการยกระดับมาตรฐานทางหลวงเป็นชั้นพิเศษ ดำเนินการก่อสร้างขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (DEPRESSED MEDIAN) ผิวทางคอนกรีตหนา 35 เซนติเมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3 แห่ง ที่ กม.52+972 ความยาว 300 เมตร, กม.54+550 ความยาว 100 เมตร และ กม.57+633 ความยาว 296 เมตร พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบบนทางหลวงตลอดเส้นทาง

นายอภิรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการโครงการมีความจำเป็นจะต้องปิดการจราจรทีละฝั่ง (เป็นช่วงๆ) แล้วเบี่ยงการจราจรให้ไปวิ่งสวนทางกันอีกฝั่งหนึ่ง แม้ว่าจะยังสามารถเดินทางสัญจรบนทางหลวงหมายเลข 340 ได้ตามปกติ แต่ก็คาดว่าจะมีปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุด ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบการจราจรระหว่างการก่อสร้างจึงได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบโครงการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เพื่อกำหนดเส้นทางเลี่ยง และวางแผนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบข้อมูล และวางแผนการเดินทางล่วงหน้าทั้งนี้ กรมทางหลวงจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางพร้อมให้บริการข้อมูล

ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวง รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ลดปัญหาการจราจรติดขัด ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ

เพิ่มเพื่อน