'เผ่าภูมิ' ชี้ต้องให้เกียรติ 'กนง.-ธปท.' เคาะดอกเบี้ย หวังใช้ข้อมูลหลังถก 'ขุนคลัง' ตัดสินใจเพื่อประเทศ

“เผ่าภูมิ” ชี้ต้องให้เกียรติ “กนง.- ธปท.” พิจารณานโยบายดอกเบี้ย หวังใช้ข้อมูลหลังพูดคุยปรับจูนภาพเศรษฐกิจ-ค่าเงิน-ทิศทางดอกเบี้ยกับขุนคลัง ตัดสินใจเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

4 ต.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เกี่ยวกับผลการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งผลการหารือเป็นไปในทิศทางบวก โดยได้มีการจูนภาพเศรษฐกิจที่ตรงกันมากขึ้น รวมถึงคลังได้มีการแสดงความเป็นห่วงและสะท้อนในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไป รวมถึงช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก

ส่วนการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเชื่อว่าภายหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้น จะช่วยทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ของ กนง. มีศักยภาพและตรงกับบริบทของโลกมากขึ้น

“ด้วยเนื้อหาที่หารือกันระหว่างคลังกับ ธปท. นั้นเป็นไปในทิศทางบวก นั่นหมายถึงมีการปรับจูนมุมมอง และมีการแลกเปลี่ยนข้อห่วงใยต่างๆ กันพอสมควรแล้ว ส่วนการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น อยู่ในวิสัยที่ ธปท. และกนง. จะใช้ข้อมูลทั้งหมดที่พูดคุยกันร่วมตัดสินใจเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เรื่องนี้จะต้องให้เกียรติกันในการที่จะหาผลที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป” นายเผ่าภูมิ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการประชุม กนง. ในวันที่ 16 ต.ค. นี้ ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นโยบายการคลังจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ รมช.การคลัง ระบุว่า การดูแลเศรษฐกิจมี 2 ขา คือนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เมื่อขาหนึ่งทำงานน้อย อีกขาหนึ่งก็ต้องทำงานให้มากขึ้น เป็นกลไกธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ด้วยอัตราเร่งที่เหมาะสม โดยในส่วนของมาตรการด้านการคลัง ก่อนหน้านี้ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงิน 1.4 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ซึ่งช่วยกระจายเม็ดเงินลงไปในทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้น

ขณะที่การเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นเฟสที่ 2 นั้น อาจจะต้องรอดูผลความสำเร็จของเฟสแรกก่อนว่าเม็ดเงินสามารถกระจายตัวได้ขนาดไหน หมุนได้เยอะขนาดไหน และมีมิติของการนผลักต่อเศรษฐกิจสูงแค่ไหน หลังจากนั้นต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาก่อน ซึ่งจะไม่ได้ดูแค่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่จะต้องดูในภาพรวมของมาตรการทั้งหมดที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และจะต้องทำให้เชื่อมโยงกันระหว่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการอื่น ๆ โดยคาดว่าคณะกรรมการฯ จะสามารถประชุมได้ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง

“เฟส 2 ต้องดูระยะเวลา เนื่องจากผลของมาตรการแต่ละระลอกจะมีผลที่ทิ้งช่วง ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินไปวันนี้แล้วผลจะหมดทันที แต่ผลทางเศรษฐกิจจะต้องรอให้หมุนไปก่อน ซึ่งคลังไม่ลืมที่จะรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะหากแรงส่งตรงนี้หยุด ครั้งต่อไปที่จะส่งแรงส่งจะหนักกว่า ดังนั้นเราจะต้องส่งแรงส่งต่อไปเรื่อย ๆ แต่ถามว่าเครื่องมือมีแค่เฉพาะการกระจายเม็ดเงินหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ใช่ เรามีมาตรการภาษี มาตรการทางการเงิน มาตรการสินเชื่อ ซอฟท์โลนต่าง ๆ ที่จะเข้าไปช่วย” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ส่วนกรณีที่เอกชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินโครงการคูณ 2 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยประชาชนซื้อสินค้าราคา 100 บาท จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 100 บาทนั้น นายเผ่าภูมิ ระบุว่า ข้อเสนอมีได้ และในส่วนของภาครัฐก็มีหน้าที่รับข้อเสนอต่าง ๆ ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นอะไร จากใคร และเรื่องไหน นำมาวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์เสร็จก็เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ

เพิ่มเพื่อน