'แจกเงินหมื่น' ชาวเน็ตเสียงแตก…..กระตุ้นเศรษฐกิจหรือแค่ยาชา?

โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจาก “ดิจิทัล วอลเล็ต” ได้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ มีทั้งฝ่ายที่มองว่าเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ยั่งยืนพร้อมทั้งกังวลถึงผลกระทบระยะยาว โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างคึกคัก สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากของผู้คนที่มีต่อนโยบายนี้

4 ต.ค. 2567 – บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 ถึงประเด็นเกี่ยวกับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ” พบว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งการวิจารณ์ตัวนโยบาย และการแบ่งปันไอเดียการใช้เงินที่ได้รับว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง? สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของประชาชนที่มีต่อมาตรการนี้

ส่องไอเดียโซเชียลใช้ “เงินหมื่น” ไปกับอะไร ?

จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในโซเชียลมีเดีย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่วางแผนจะนำเงินไปใช้จ่ายค่อนข้างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด รองลงมาคือนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ การต่อยอดลงทุนโดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และอื่น ๆ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายได้ ดังนี้

1. สินค้าอุปโภคบริโภค 47.8% เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง สินค้าเพื่อการเกษตร (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การเกษตร พันธุ์พืช สัตว์เลี้ยง) เครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย

2. ชำระหนี้สิน 17.4% คือการใช้หนี้ จ่ายหนี้ ชำระหนี้ต่างๆ

3. ลงทุน 9.6% ได้แก่ ซื้อทอง เก็บเงิน ลงทุนในอุปกรณ์ทำมาหากิน ซื้อสลากออมสิน

4. เงินสำหรับการรักษาและซ่อมบำรุง 8.7% อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ยา อุปกรณ์การแพทย์ ทำฟัน วัสดุซ่อมแซมบ้าน

5. อื่นๆ16.5% ได้แก่ ชำระค่าสาธารณูปโภค ทำบุญ/บริจาค ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

ชาวโซเชียลคิดเห็นอย่างไร ? กับนโยบายแจกเงินหมื่น

ความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายนี้มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและข้อกังวลที่มีต่อผลกระทบในระยะยาว โดยสามารถแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย51.8%กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและภาระทางการคลังแก่คนรุ่นต่อไปมองว่าการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงได้รับเงิน ในขณะที่คนที่เดือดร้อนไม่ได้รับ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความล้มเหลวในการบริหารจัดการข้อมูลเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และอาจสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเองวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมของผู้ได้รับ เช่น เล่นการพนัน ซื้อของฟุ่มเฟือยต้องการให้นำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนระยะยาวแทน เนื่องจากมองว่ามีความยั่งยืนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า

กลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบาย 33.2%มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ เพราะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้เห็นว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้าท้องถิ่นได้รับประโยชน์  เชื่อว่าเป็นการคืนภาษีให้ประชาชน และรัฐบาลมีความตั้งใจดีในการช่วยเหลือประชาชน แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาและความต้องการของประชาชนมองว่าการให้เป็นเงินสดดีกว่า เพราะประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ตามความจำเป็น ให้อิสระในการบริหารจัดการเงินตามสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวสนับสนุนให้มีนโยบายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ตรงจุดและเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่เป็นกลาง 15.0%เข้าใจความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน แต่เสนอให้มีการปรับปรุงระบบการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการจริงๆ และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรมองว่าควรมีการติดตามและประเมินผลนโยบายอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาทั้งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอให้มีมาตรการควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย เช่น การกำหนดประเภทสินค้าและบริการที่สามารถใช้จ่ายได้ หรือการให้เป็นเครดิตสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่านั้นแนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่นๆ ในการช่วยเหลือประชาชน เช่น การสร้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเห็นว่าควรมีการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคิดเห็นต่อนโยบายนี้จะแตกต่างกัน แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่รอคอยและหวังจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และประชาชนยังให้ความสนใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567

เพิ่มเพื่อน