'พิชัย' ฟุ้งคุย 'เศรษฐพุฒิ' ฉลุย! โยนโจทย์หินลดดอกเบี้ย จ่อถกเงินเฟ้ออีกรอบ

“พิชัย” แจงจับเข่าคุย “เศรษฐพุฒิ” เข้าใจกันดี ฟุ้งแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ โยนโจทย์หินลด-ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมจับมือช่วยกันแก้ไขหนี้ครัวเรือน ปักธงอุ้มกลุ่มเปราะบาง 7-8 แสนบัญชี เตรียมหารืออีกรอบถกกรอบเงินเฟ้อ หลังประเมินสิ้นปีหลุดเป้าแน่!!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 เวลา 14.20 น. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้หารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. โดยใช้เวลาในการพูดคุยกันประมาณ 1.30 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการหารือ นายพิชัย กล่าวว่า การหารือเป็นไปด้วยดี คุยกันด้วยความเข้าใจ โดยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และยุโรป รวมถึงมาตรการต่าง ๆ จากจีน ที่มองว่าตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังยังคงยืนยันในหลักการว่า การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 ต.ค. นี้ ซึ่งเข้าใจว่า กนง. จะมีการหยิบเอาผลกระทบในหลากหลายมิติมาพิจารณาว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นผลดีโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กู้ใหม่ ที่ยังมีความสามารถในการกู้ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการกู้ ก็อาจจะไม่ได้กู้แล้ว แต่จะมีผลดีที่ตามมาคือทำให้บอนด์ยีลลง แม้ว่าจะเป็นการลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม

“เรื่องดอกเบี้ย ผมคิดว่าถ้า กนง. ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ท่านจะต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่ลด แต่ถ้าลด ท่านก็จะต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องลด ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐบาลคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง คิดในมุมของเครื่องมือ แต่ส่วนตัวผมก็เชื่อว่า ธปท. น่าจะมีเครื่องมือหลายตัวมากกว่านั้น” รมว.การคลัง ระบุ

ทั้งนี้ ในส่วนของค่าเงินที่มีผลต่อภาคการส่งออกนั้น จำเป็นจะต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าจะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงปริมาณ และโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะดีขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2567

“การแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินมันไม่ได้แก้กันตรง ๆ ด้วยการแค่ประกาศว่าเราจะเข้ามาแก้ไข แต่ต้องมีมาตรการหลายอย่าง จะต้องมีและใช้เครื่องมือตัวไหน ผมคิดว่าเมื่อพิจารณาข้อจำกัด และข้อมูลต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็อยากจะให้ ธปท. ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลและรู้ว่าเครื่องมือมีอะไรบ้างและจะหยิบเครื่องมือตัวไหนมาใช้ อยากให้ลองไปตัดสินใจดูว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในมิติที่คลัง และธปท. เห็นตรงกัน และเข้ากันใจดี พูดคุยกันรู้เรื่อง เพราะมองภาพเศรษฐกิจในด้านเดียวกัน คือ มองว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า และปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องสภาพคลอง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปล่อยสินเชื่อยังมีความกังวลและไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากกว่า โดยส่วนตัวมองว่าการทำให้ประชาชนที่มีโอกาสฟื้น และไปต่อได้ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความสำคัญมากกว่าเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะหากลดอัตราดอกเบี้ยไม่กี่ Basis Point ผลคงไม่เยอะ แต่สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังมีโอกาสเดินไปได้ ยังมีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้ ส่วนนี้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินกับคลังที่จะเข้ามาดูแล หลัก ๆ คือ จะไม่ลดหนี้ให้แบบไม่มีเหตุผล เพราะจะกลายเป็นปัญหาMoral Hazard ส่วนรายละเอียดจะต้องมีการหารือกันเพิ่มเติมอีก และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนใหญ่มีมูลหนี้ไม่มาก แต่มีสถานะทั้งที่เป็นหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร และอื่น ๆ มีจำนวนกว่า 7-8 แสนบัญชี ตรงนี้ต้องมาดูในรายละเอียด และต้องขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน คลัง และ ธปท. ที่จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่

“ถ้าผมเป็นคนแก้หนี้ที่มีไม่กี่เครื่องมือ หากไม่ลดหนี้ ก็ต้องหาวิธีที่ดีที่สุด ทำให้เป็นภาระลูกหนี้น้อยที่สุด นั่นคื อการยืดเวลา ตรงนี้ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่ง และอีกเรื่องที่ต้องมาดูคือว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพราะหตุใด จริง ๆ เรื่องนี้มีเครื่องมือใหญ่ ๆ อยู่ 2-3 ตัว” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี การหารือยังไม่จบ โดยภายในเดือนนี้จะมีการนัดหารือกันอีกครั้ง เพื่อพูดคุยในรายละเอียดโดยเฉพาะเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4/2567 อัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวที่ระดับ 1% และทั้งปีคาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางดำเนินการให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

เพิ่มเพื่อน