ชี้แบงก์ชาติแทรกแซงค่าเงินแก้ปมบาทแข็งไม่พอ! 'เผ่าภูมิ' ยันต้องหั่นดอกเบี้ย ช่วยเบรกทุนนอกไหลเข้า

“เผ่าภูมิ” ชี้ “แบงก์ชาติ” แทรกแซงค่าเงินแก้ปมบาทแข็ง-ผันผวนหนัก ยังไม่พอ มองเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขย่มหั่นดอกเบี้ยช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หวังเบรกทุนนอกไหลเข้า เคาะบาทไทยควรอยู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลล่าร์สหรัฐฯ เชื่อช่วยผู้ประกอบการทำธุรกิจคล่องตัว

1 ต.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าได้มีการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาทในขณะนี้ การแก้ไขด้วยการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะหากไปดูที่ต้นตอจะพบว่าการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของชาติมหาอำนาจ จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าจนทำให้เกิดการแข็งค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ มองว่าแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าวต้องทำใน 2 ส่วนสำคัญ โดยการแก้ไขที่แนวหลัก คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นการดูแลในระยะยาว ส่วนการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนในระยะสั้น ต้องแก้ไขด้วยการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น การแทรกแซงค่าเงินอย่างเดียวเพื่อดูแลสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนคงไม่พอ ไม่อย่างนั้นก็ต้องแทรกแซงต่อไปเรื่อย ๆ เพราะแนวหลักอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่แตกต่างกันเกินไป ก็จะทำให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“การแก้ไขความผันผวนของค่าเงินบาทด้วยการแทรกแซงค่าเงิน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่เพียงพอ เพราะต้นตอที่เป็นปัญหาระยะยาว คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของเรายังมีความแตกต่างกับนโยบายทางการเงินของโลกอยู่พอสมควร” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ มองว่าการดูแลค่าเงินบาทจะต้องบริหารจัดการไม่ให้ผันผวนมากเงินไป ซึ่งปัจจุบันเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์แข็งค่ามากเกินไป โดยเห็นว่าค่าเงินบาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ควรอยู่ที่ระดับ 34 บาทกว่า ๆ ต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบ ทั้งความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะค่าเงินของเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้า แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและผู้ประกอบการในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ก็ต้องมาพิจารณาปัจจัยประกอบในแต่ละช่วงเวลาว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยต้องพยายามบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้เกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และคู่ค้าให้ได้ ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญ เพราะหากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าจนเกินไป การค้าขายจะมีปัญหา ส่วนที่มีการระบุว่าภาคส่งออกบางกลุ่มยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ส่วนตัวไม่อยากให้หยิบประเด็นเล็ก ๆ มาคุยกัน แต่อยกาให้มองภาพรวมว่าผู้ประกอบการส่วนให้ได้รับผลกระทบ และการที่ค่าเงินสูงกว่าคนอื่น นั่นหมายความว่าสินค้าของเราจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำลง ถือเป็นข้อด้อย และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรพิจารณาเรื่องนี้

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชั่งน้ำหนักใน 2 มิติเสมอ คือ น้ำหนักด้านศักยภาพของเศรษฐกิจ และน้ำหนักด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเงินในระดับที่สูงมาก ขณะที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ส่วนจะต้องจุนเจือให้เกิดความสมดุล การที่เศรษฐกิจจะมีศักยภาพสูงจนไม่สนใจเสถียรภาพทางการเงินเลยก็ไม่ดี ขณะเดียวกันการที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งจนเกินไป โดยไม่สนใจศักยภาพทางเศรษฐกิจ แบบนี้ก็จะเดินไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างสมดุล โดยหากถามว่าปัจจุบันทั้ง 2 มิติสมดุลหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า “ยังไม่สมดุล”

สำหรับประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากนั้น ก็เป็นอีกปัญหาที่มองว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะว่าเป็นภาวะความเดือดร้อนของประชาชน และสามารถมองได้ว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินที่ก็เข้มแข็งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรจะพิจารณาในมิติของการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้สภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในอัตราที่ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า

โดยสิ่งที่กระทรวงการคลังสามารถทำได้ในส่วนนี้ คือการหารือกับ ธปท. และธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนในมุมของสถาบันการเงินของรัฐนั้น คลังสามารถดำเนินการให้เข้าไปช่วยเหลือจุนเจือประชาชนได้ด้วยส่วนอัตราอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ก็จะเป็นจุดสปาร์คให้ตลาดมีการปรับตัวมากขึ้น แต่คลังก็อาจจะทำได้ไม่เต็มไม้เต็มมือ และคงต้องขอความร่วมมือไปยัง ธปท.

เพิ่มเพื่อน