กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ เดือน ส.ค.67 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่ม 2.36% ทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลด 29.13% ส่วนยอดเลิก 2,063 ราย เพิ่ม 2.79% ทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่ม 96.28% เหตุปีก่อนมีบริษัทสื่อสารเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ รวม 8 เดือน ตั้งใหม่ 61,819 ราย เพิ่ม 0.42% เลิก 9,992 ราย ลด 8.92% คาดทั้งปีตั้งใหม่ 9-9.8 หมื่นราย ชี้ธุรกิจร้านอาหาร มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง รายได้ 3 ปีย้อนหลังเพิ่มเฉลี่ยปีละ 6.3 หมื่นล้าน
30 ก.ย. 2567 – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ส.ค.2567 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 2.36% ทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลดลง 29.13% โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ส่วนการจัดตั้งใหม่รวม 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 61,819 ราย เพิ่มขึ้น 0.42% ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 60.35% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซี โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
สำหรับการจดทะเบียนเลิกเดือน ส.ค.2567 มีจำนวน 2,063 ราย เพิ่มขึ้น 2.79% ทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.28% เพราะการเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง ที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร และยอดรวม 8 เดือน มีจำนวน 9,992 ราย ลดลง 8.92% ทุนจดทะเบียน 99,393.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.89% เพราะเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทุนจดทะเบียน 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทั้งนี้ แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในระยะต่อไป กรมคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และเริ่มงบประมาณปี 2568 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยทั้งปีตั้งเป้าไว้ที่ 90,000-98,000 ราย แต่ก็ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และอุทกภัย
นางอรมน กล่าวว่า กรมได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารเชิงลึก พบว่า มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ระบาด โดยปี 2566 ตั้งใหม่ 4,017 ราย เพิ่ม 32.97% ทุนจดทะเบียน 8,078.63 ล้านบาท เพิ่ม 22.62% ส่วน 8 เดือนปี 2567 ตั้งใหม่ 2,847 ราย ลด 2% มูลค่าทุน 5,826.03 ล้านบาท ลด 1.6% แต่ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดี ส่วนรายได้ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท โดยปี 2564 มีรายได้ 179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 244,412.99 ล้านบาท เพิ่ม 36.05% และปี 2566 มีรายได้ 306,618.54 ล้านบาท เพิ่ม 25.45%
ส่วนการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหาร พบว่า มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 29,071.35 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ มูลค่า 6,075.23 ล้านบาท เพิ่ม 20.90%, ญี่ปุ่น 3,162.46 ล้านบาท เพิ่ม10.88%, จีน 2,326.24 ล้านบาท เพิ่ม 8.00%, อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท เพิ่ม 7.46% และฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท เพิ่ม 5.53%
“ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโต มาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการร้าน การสั่งอาหาร การโฆษณาออนไลน์ ทำให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องตั้งร้านในแหล่งคนพลุกพล่าน มีการทำอาหารให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ทั้งออร์แกนิก วัตถุดิบจากต่างประเทศ มีอาหารแบบ Fine Dining และ Chef’s Table และร้านสวย มีมุมให้ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ร้านอาหารขยายตัวได้ต่อเนื่อง บวกกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และกรมเองยังได้ขับเคลื่อนร้านอาหารไทย ผ่านการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทำให้ร้านอาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น”นางอรมน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่
รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้