“สุริยะ” สั่งปรับแผนพัฒนา “รถไฟฟ้าเชียงใหม่” ศึกษาสร้างอุโมงค์เขตพื้นที่เมืองเก่า ก่อนยกระดับในเขตนอกเมือง ยอมรับงบประมาณลงทุนอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นทางออกเคลียร์ปมกระทบโบราณสถาน และเคลื่อนโครงการตอกเสาเข็มได้
30 ก.ย. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเดินหน้าตามแผนแล้ว กระทรวงฯ จึงอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาโครงการระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต พิษณุโลก และนครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ประเมินว่าโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาคสายแรกที่ต้องเร่งพัฒนา คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีการจราจรติดขัดอย่างมาก อีกทั้งหากมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นอกเขตเมือง การเดินทางของประชาชนในพื้นที่จะสะดวกขึ้น ลดความแออัดในเขตเมือง
ทั้งนี้ทราบว่าปัจจุบันยังมีประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานในพื้นที่เขตเมือง กระทบภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ตนจึงมีแนวคิดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าให้เป็น 2 รูปแบบ โดยในพื้นที่เขตเมืองให้พัฒนาเป็นอุโมงค์ใต้ดิน และนอกเขตเมืองให้พัฒนาเป็นรถไฟฟ้าตามแผนที่ศึกษาไว้
“เมื่อโครงการมีข้อกังวลเราก็ต้องกลับมาดูปัญหา ซึ่งหากพัฒนาเป็นอุโมงค์ในช่วงเขตเมือง ก็จะช่วยลดข้อกังวลผลกระทบแหล่งท่องเที่ยว และยังทำให้การจราจรสามารถสัญจรได้ตามปกติ ส่วนพื้นที่นอกเขตเมืองก็สามารถพัฒนาตามแผนเดิม เชื่อว่าหากปรับแผนเป็นลักษณะนี้จะสามารถเดินหน้าโครงการได้”นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า แม้ว่างบประมาณการลงทุนจะต้องปรับเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างงานอุโมงค์รถไฟฟ้า แต่หากสามารถทำให้โครงการนี้เดินหน้าได้ทันที เพื่อแก้ไขปัญหาการเจรจาและสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวนอกเขตเมืองอย่างสะดวก ก็จะเป็นประโยชน์คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเบื้องต้นประเมินว่าการศึกษาเรื่องนี้ไม่น่าจะใช้เวลานาน คาดว่าปี 2568 น่าจะได้เห็นความชัดเจน
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ก่อนหน้านี้ รฟม.ศึกษาพัฒนาแนวเส้นทางช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคีระยะทางประมาณ 15.8 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุน 29,523.29 ล้านบาท โดย รฟม.ศึกษาพัฒนาระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) มีสถานีให้บริการ 16 สถานี สถานะปัจจุบัน รฟม.ยืนยันเดินหน้าพัฒนาโครงการ อยู่ในขั้นตอนยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ให้คณะผู้ชำนาญการฯ พิจารณา
นอกจากนี้ รฟม.ยังกำหนดแผนดำเนินโครงการเบื้องต้น แบ่งเป็น ปี 2568 – 2569 พิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการที่เหมาะสม หลังจากนั้นในปี 2569 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรูปแบบการลงทุน ส่วนในปี 2570 – 2571 จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการ (PPP) และในปี 2571 เริ่มงานก่อสร้าง เพื่อเปิดให้บริการในปี 2574
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี จะมีสถานีให้บริการรวม 16 สถานี ประกอบด้วย สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี
นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) 2 แห่ง บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ได้ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน อีกทั้งยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณแยกหนองฮ่อ พัฒนาบนพื้นที่ 25 ไร่