เตือนระวังข่าวปลอม ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” หวั่นปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

29 ก.ย. 2567 – กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” รองลงมาคือเรื่อง “ปปง. ร่วมมือกับ สอท. เปิดให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือทางออนไลน์” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความเสียหายให้กับข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สิน โดยหากมีการส่งต่ออาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 20 – 26 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 842,624 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 310 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 294 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 232 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 107 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์

อันดับที่ 2 : เรื่อง ปปง. ร่วมมือกับ สอท. เปิดให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือทางออนไลน์

อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดบัญชีไลน์ชื่อ Service center SET

อันดับที่ 4 : เรื่อง กรมบังคับคดีเปิดเพจเฟซบุ๊ก กองบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

อันดับที่ 5 : เรื่อง เพจ สินเชื่อ ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อให้เงินกู้ 5,000-500,000 บาท

อันดับที่ 6 : เรื่อง ธ.กรุงไทย ชวนให้สะสมทรัพย์เพื่ออนาคตของตนเอง ลงทุนแบบรายวัน และแบบรายอาทิตย์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

อันดับที่ 7 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดกองทุนรวมทองและเปิดพอร์ตกับฮั่วเซ่งเฮง เริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผล 3-20%

อันดับที่ 8 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดให้เทรดทองแบบ Real Time กับ ARR Gold Trading

อันดับที่ 9 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น 44.59 บาทต่อหน่วย ได้ค่าคอมมิชชันสูงสุด 20-37%

อันดับที่ 10 : เรื่อง วางแผนการลงทุนผ่านบัญชีไลน์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก ก.ล.ต.

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่า ทั้ง 10 อันดับเป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยอันดับ 1 เป็นการสร้างข้อมูลเท็จที่แอบอ้างเป็นสำนักงานป้องกันและปราบรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดให้ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” ซึ่งเป็น“เพจปลอม” ที่จัดทำขึ้นโดยมิจฉาชีพ” นายเวทางค์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงาน ปปง. พบว่า ปปง. ไม่เคยเปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นเพื่อรับคำร้องหรือช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเพจปลอมดังกล่าวได้นำสัญลักษณ์ของ ปปง. มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีการใช้รูปแบบและเนื้อหาตามเพจจริงของ ปปง. ซึ่งปปง. มีเพจเฟซบุ๊กเดียวชื่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน – ปปง. โดยมีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้า (Meta Verified) อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (ลิงก์ : https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/)

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจาก ปปง.สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือ โทร. 02-219-3600

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีอี เตือนภัย ‘โจรออนไลน์’ สร้างเพจปลอมลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ 

ดีอี เตือนภัย “โจรออนไลน์” สร้างเพจปลอม “ลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ ให้กู้ 50,000 บาท คืน 1,083 บาทต่อเดือน ผ่าน TikTok nongbdwo314” หวั่น ปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล 

ดีอี เตือน 'มิจฉาชีพ' ปล่อยข่าวปลอม ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้

ดีอี เตือน “มิจฉาชีพ” ปล่อยข่าวปลอม “ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป” ขออย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล