กสม.ร่อนหนังสือถึง 'อุ๊งอิ๊ง' ให้ทบทวนแลนด์บริดจ์!

กสม.ส่งหนังสือถึงนายกฯ กังวลโครงการแลนด์บริดจ์ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม​ -​ ไม่คุ้มค่าทางศก. แนะต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน

26 ก.ย.2567 - กรรมการสิทธิมนุษยชน​แห่งชาติ​ (กสม.)​โดย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการกสม. แถลงข่าวโดยเปิดเผยว่ากสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดชุมพรและระนอง ขอให้ตรวจสอบกรณีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งประกอบไปด้วย ท่าเรือ เส้นทางรถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ขาดการมีส่วนร่วม และจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 – 31 พ.ค. 2567 กสม. จึงได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการในพื้นที่ รวมทั้งได้ประมวลรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องและความเห็นของนักวิชาการ และได้รับทราบข้อเท็จจริงรวมทั้งข้อห่วงกังวลหลายประการ สรุปได้ดังนี้

1.กระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีประเด็นว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นแยกเป็นรายโครงการเฉพาะในส่วนที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลในภาพรวม นอกจากนี้การชี้แจงข้อมูลยังไม่ชัดเจน ไม่ลงลึกในรายละเอียด และยังไม่มีข้อมูลของโครงการอื่นที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายส่วน เช่น ขอบเขตที่ชัดเจนของแนวถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่า โรงไฟฟ้า เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงการ นอกจากนี้ ขอบเขตการศึกษายังไม่ให้น้ำหนักที่มากพอในประเด็นผลกระทบของโครงการต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่มีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่าที่ควร ขณะที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการรับฟังความคิดเห็นยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น และมีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านโครงการเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นด้วย

2.โครงการแลนด์บริดจ์จะส่งกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการอาจก่อให้เกิดมลพิษ และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาดและอาชญากรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการขนส่ง และการคมนาคม

3. รายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าและผลกระทบในมิติต่าง ๆ กล่าวคือ รายงานการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของ สนข. เมื่อปี 2559 สรุปว่า จังหวัดระนองมีความเหมาะสมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในระดับสูง มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) ขณะที่จังหวัดชุมพรมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรในระดับสูง และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีคุณค่าในระดับภาค และระบุว่าสะพานเศรษฐกิจไม่สามารถย่นระยะทาง ไม่สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงของเรือขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าธรรมเนียมที่จะสามารถเรียกเก็บได้จากการให้บริการขนส่งตู้สินค้าของสะพานเศรษฐกิจพบว่าไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการบำรุงรักษา จึงควรชะลอการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจออกไปก่อน

ส่วนรายงานโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปี 2525 ระบุว่า การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทางบกเส้นทางใหม่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งประกอบไปด้วยอุโมงค์ ทางยกระดับ และรถไฟรางคู่ จะกระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ศาสนสถานสำคัญวัดนกงาง จังหวัดระนอง การเดินเรือจะส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติแหลมสน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน การกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังบริเวณเกาะพยาม จังหวัดระนอง เกาะครามและเกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร นอกจากนี้ โครงการมีข้อจำกัดเรื่องความเหมาะสม เมื่อพิจารณาจากผลกระทบในมิติต่าง ๆ เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย การกระจายรายได้ และความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

4.ความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า ที่ตั้งท่าเรือฝั่งอันดามัน อยู่ใกล้กับพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันของศูนย์มรดกโลก เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือ รวมถึงการขยายพื้นที่ชายฝั่งเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยังอาจกระทบต่อเขตอนุรักษ์ การไหลของกระแสน้ำในทะเล การเดินทางของธาตุอาหาร และการวางไข่ของปลาทะเลในพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งทำประมงหลักของกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งโครงการอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่อาจดึงดูดการขนส่งสินค้าทางทะเลจากเส้นทางเดินเรือหลักทางช่องแคบมะละกาได้และไม่อาจย่นระยะทางขนส่งอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งมีราคาแพง

จากประเด็นข้อห่วงกังวลข้างต้น กสม. โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้ กสม. ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้มีหนังสือแจ้งข้อห่วงกังวลดังกล่าวต่อโครงการแลนด์บริดจ์ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

1.ให้ สนข. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันชี้แจงข้อมูลให้เห็นภาพรวมของทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ และจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่างรอบด้าน เป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกประเด็น และทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเฉพาะที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น ประมงพื้นบ้าน เกษตรกร ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น เป็นต้น

2.ให้หน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ ศึกษาผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แหล่งน้ำ การประมง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตดั้งเดิม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ ตลอดจนคำนวณความคุ้มทุนโดยนับรวมความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินโครงการนี้ด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชี้ไฟไหม้รถบัสนักเรียนความหละหลวมปกป้องและคุ้มครองเด็ก จี้หยุดซ้ำเติมความโศกเศร้า

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียครั้งใหญ่ในเหตุเพลิงไหม้รถบัสโดยสารนักเรียน มีใจความว่า

'กสม.' ชี้ ก่อสร้างโรงแรมใน ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมปชช. จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

'กสม.' ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสิทธิและวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

กสม.เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อ.องครักษ์

กสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำชุมชนและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ