'จุลพันธ์' โต้ดราม่าแบงก์หักหนี้เงินหมื่นก่อนแจก แจงไม่มีนโยบาย เล็งปรับเฟส2ทยอยจ่ายทีละ5พัน

“จุลพันธ์” โต้ดราม่าแบงก์หักหนี้เงินหมื่นก่อนถึงมือลูกค้า แจงไม่มีนโยบาย ยันมาตรการเติมเงินหวังปั๊มการใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มสูบ รับมีข้อจำกัดหลายด้าน เล็งปรับเฟส 2 เป็นทยอยจ่ายทีละ 5 พันบาท

25 ก.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า มีธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการหักหนี้บางส่วนจากลูกค้าที่ได้รับโอนเงิน 10,000 บาท จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ว่า ยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น และไม่มีนโยบายให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวด้วย เพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้เม็ดเงินดังกล่าวลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายอย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เรากำลังตรวจสอบกรณีที่มีการแชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดียอยู่ แต่ยืนยันได้ว่าไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน และไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องระบบการโอนเงินและการหักหนี้เก่าอย่างแน่นอน ธนาคารได้ทำการโอนเงินเต็มจำนวน 10,000 บาทให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่มีการหักหนี้เก่าก่อนแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เองก็ได้สื่อสารกับทีมงานอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ให้ดำเนินการในลักษณะนี้ และในทางปฏิบัติก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านราย วันแรก (25 ก.ย.) มีเป้าหมาย 3.2 ล้านราย โดยได้ดำเนินการโอนไปแล้ว 3.17 ล้านราย สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ตกหล่นไม่เยอะ โดยเป้าหมายการโอนเงินในวันที่ 26-27 ก.ย. อีกวันละ 4.5 ล้านราย และวันวันที่ 30 ก.ย. จะดำเนินการส่วนที่เหลือ เชื่อว่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยจะดำเนินการจ่ายเงินได้ก่อนช่วงเช้าของแต่ละวันอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ มองว่าการจ่ายเงินในส่วนนี้ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น การค้าขายต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น และเงินที่ลงไปจะเข้าไปช่วยหมุนในระบบเศรษฐกิจต่ออีกหลายรอบ โดยเชื่อมั่นว่าผลของการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิต จะทำให้เกิดการผลิต การจ้างงานตามมาอีกเป็นระลอก ซึ่งทั้งหมดเป็นผลบวกที่เกิดขึ้นจา่กมาตรการซึ่งดำเนินการแจกเป็นเงินสด ที่มีข้อดีคือความเร็ว สามารถเร่งเอาเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ และจะมีส่วนช่วยการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้อีกราว 0.35% เป็นอย่างน้อย

“0.35% เป็นผลที่คาดว่าจะเกิดกับเศรษฐกิจเป็นอย่างน้อย ตัวเลขไม่ได้จบเท่านี้ เป็นเพียงตัวที่จะโชว์ในปีนี้ แต่จะมีแรงส่งสะท้อนไปถึงเศรษฐกิจในระยะถัดไป ยิ่งหากรัฐบาลสามารถบริหรจัดการเงินส่วนที่เหลือได้เร็ว มีการเติมเงินเข้าไปอีกระลอก ก็จะเกิดแรงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า อาจจะต้องยอมรับว่าผลของมาตรการต่อระบบเศรษฐกิจของโครงการที่คิดวันแรก กับวันนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามข้อจำกัดที่รัฐบาลมี และความจำเป็นเร่งด่วนในมิติต่าง ๆ ข้อจำกัดเรื่องกลไกในการดำเนินการ การพัฒนาระบบ และกลไกในข้อกฎหมายซึ่งจะเป็นความเสี่ยงของรัฐบาลก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการปรับเปลี่ยนโครงการ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมั่นใจว่าดำเนินการถูกต้อง แต่เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตขึ้นมาก็ไม่เป็นผลดีหากยังดำเนินการไปเช่นนั้น ความคลุมเครือที่เกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ก็มีการปรับเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด

สำหรับกรณีที่มีข้อกังวลว่า จะมีการนำเงิน 10,000 บาทไปใช้นอกระบบเศรษฐกิจ หรือใช้หนี้นอกระบบนั้น ยอมรับว่าอาจจะเป็นไปได้บ้าง แต่แนวโน้มค่อนข้างต่ำ เพราะกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอจริง ๆ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นได้ว่าประชาชนกลุ่มนี้จะนำเงินไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการลงทุนซึ่งก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองมากขึ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการในเฟสที่ 2 ว่า ยืนยันว่าประชาชนจะได้รับเงินอย่างแน่นอน แต่เป็นในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต โดยเบื้องต้นคาดว่าจากประชาชนที่มาลงทะเบียน 36 ล้านคน เมื่อตรวจสอบรายชื่อซ้ำซ้อน และคุณสมบัติตามโครงการแล้ว จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ์ราว 26 ล้านคน ส่วนการดำเนินการจ่ายเงินยังขอดูความเหมาะสมว่าจะดำเนินการจ่ายก้อนเดียว 1 หมื่นบาท หรือจ่ายทีละ 5พันบาท เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายมิติ รัฐบาลไม่ได้ดูเพียงการเติมเงินผ่านระบบ หรือการทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการกระตุ้นและลงทุนด้านเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ด้วย

“ต้องมาพิจารณาตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์อีกที หากตัวเลขต่างกันไม่มาก รัฐบาลก็มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณได้ในครั้งเดียว แต่ถ้าตัวเลขเยอะและเราต้องมานั่งแบก มาเร่งเครื่องทางการคลังมากเกินไปก็คงไม่ทำ เพราะว่าเราก็ต้องใช้งบประมาณในการทำภารกิจอื่นด้วย ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับการแจกเงินเป็นเฟส ๆ” รมช.การคลัง ระบุ

อย่างไรก็ดี หากประเมินทั้งโครงการที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน ราว 4.5 แสนล้านบาท แม้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแตะระดับศักยภาพที่ 2% ได้ไม่ยาก แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่รัฐบาลมองไว้ที่ 5% นั่นหมายถึงในระยะต่อไป สิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้านอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ ต้องขยายเพดานระดับศักยภาพเศรษฐกิจของไทยด้วย ผ่านกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัพสกิล-รีสกิลแรงงาน การปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝากลูกหลานช่วยเตือนญาติผู้ใหญ่คนใกล้ชิด 4 หมื่นกว่าคนที่รัฐโอนเงินหมื่นให้ไม่ได้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางที่ผ่านมาว่า ขณะนี้โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในรอบจ่ายซ้ำ ครั้งที่ 2 เมื่อ

จุลพันธ์ เผยโอนเงินหมื่นรอบเก็บตกครั้งที่ 2 ทำสำเร็จไม่ถึงครึ่ง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ของโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในรอบจ่ายซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567