โลกหลังโควิด ห้าเรื่องที่ธุรกิจต้องทําเพื่อปรับตัว

การระบาดใหญ่ของโควิดที่เริ่มปลายปี 2019 ถือเป็นมหันต์ภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติ คร่าชีวิตคนในโลกไปกว่า 7 ล้านคน และชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบต่างๆ ที่โลกมีที่จะรับมือกับภัยที่ไม่คาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้หลังโควิด เราจึงเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจทั่วโลกเพื่อสร้างความสามารถและความเข้มแข็งที่ดีขึ้นที่จะรับมือและอยู่ให้ได้กับภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ เป็นสิ่งที่ธุรกิจในประเทศเราต้องทําเช่นกัน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

23 ก.ย. 2567 -วิกฤติโควิดมีผลรุนแรงต่อภาคธุรกิจและถือเป็นจุดเปลี่ยนสําคัญของธุรกิจทั่วโลก บทเรียนสําคัญต่อภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิดสรุปได้เป็นห้าประเด็น

หนึ่งความสำคัญของความยั่งยืน เรื่องนี้ชัดเจน เพราะโควิดชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางที่โลกมีและความจําเป็นที่บริษัทธุรกิจจะต้องมีโมเดลการทำธุรกิจที่ยั่งยืน หมายถึงต้องอยู่ให้ได้กับความไม่แน่นอนและผลกระทบต่างๆ ทำให้ความยั่งยืนได้กลายมาเป็นหมุดหมายสําคัญของการทำธุรกิจของบริษัททั่วโลกหลังโควิด ซึ่งความยั่งยืนนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงความยั่งยืนของบริษัทเองด้วยในการทําธุรกิจ ทําให้ ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลได้กลายเป็นกลไกที่บริษัททั่วโลกใช้ในการขับเคลื่อนการทําธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดย E หมายถึงบทบาทของบริษัทที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการทําธุรกิจ S หมายถึงการทําธุรกิจที่สร้างสมดุลระหว่างกําไรระยะสั้นกับผลระยะยาวที่มีต่อสังคม ส่วน G คือการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลที่จะทําให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้วางใจบริษัท คือมี Trust ซึ่งเป็นพื้นฐานของความยั่งยืน

นี่คือการปรับตัวที่กําลังเกิดขึ้น ซึ่งบริษัทชั้นนำของไทยก็ให้ความสําคัญ เห็นได้จากล่าสุดมี 26 บริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์ดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (DJSI) มากสุดในอาเซียน

และสำหรับบริษัททั่วไปประเด็นที่ยังเป็นความท้าทายอยู่ก็มาก เช่น การบริหารจัดการขยะซึ่งเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม การดูแลสิทธิของแรงงานซึ่งเป็นเรื่องสังคม และคอรัปชั่นคือเรื่องธรรมาภิบาล

บทเรียนที่สอง คือผลกระทบที่วิกฤติโควิดมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท หมายถึงผู้มีส่วนร่วมและผู้ที่ถูกกระทบจากการทําธุรกิจของบริษัท ซึ่งกรณีทั่วไปจะหมายถึงบุคคลสิบกลุ่มคือ เจ้าของ คณะกรรมการบริษัท พนักงาน ลูกค้า บริษัทคู่ค้า เจ้าหนี้ รัฐบาล หน่วยงานกํากับดูแล นักลงทุน และสังคม ในกรณีโควิด ที่ธุรกิจต้องชะลอหรือหยุดชะงักไม่สามารถไปต่อแบบเดิมได้ ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงมีมาก โดยเฉพาะผู้มีส่วนร่วมกับการทําธุรกิจของบริษัท เช่น พนักงาน ลูกค้า และบริษัทคู่ค้า ซึ่งถ้าความสัมพันธ์กับกลุ่มคนเหล่านี้เสียหายหรือหายไปด้วยเหตุของวิกฤติ ก็จะเป็นการยากที่บริษัทจะสามารถกลับมาทำธุรกิจแบบปกติได้เหมือนเดิมเมื่อวิกฤติผ่านไป เพราะหลายอย่างจะเปลี่ยนไป โควิดจึงชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่บริษัทต้องดูแลรักษาเหมือนเป็นอีกมิติหนึ่งของความยั่งยืน

หลังโควิดเราจึงเห็นบริษัทให้ความสําคัญมากขึ้นกับเรื่องนี้โดยเฉพาะสามประเด็น (1) ดูแลพนักงานทั้งเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ รวมถึงสุขภาพจิตใจ เรื่องสิทธิประโยชน์ ความคล่องตัวในการทํางาน เช่น ทํางานที่บ้าน และการรักษาพนักงานที่มีความสามารถสูงให้อยู่กับบริษัทต่อไป มองพนักงานเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของบริษัทที่ต้องรักษาเอาไว้ (2) บริษัทคู่ค้าหรือห่วงโซ่การผลิตก็เน้นรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทที่ค้าขายกันมานานเอาไว้ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่หายาก และอาจช่วยเหลือกันได้ในยามยาก ขณะเดียวกันก็เสาะหาบริษัทอื่นเข้ามาเสริมเป็นตัวเลือกใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กําลังมีมากขึ้น โดยหาบริษัทตัวเลือกที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือใกล้ตัวเพื่อลดความเสี่ยง (3) ลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจและความสำเร็จ หลังโควิดชัดเจนว่าบริษัทให้ความสําคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มองลูกค้าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เป็นหุ้นส่วนความสําเร็จ ไม่ใช่คนแปลกหน้า และความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นเรื่องที่ต้องรักษาไว้ ด้วยความจริงใจและความซื่อตรงในการทําธุรกิจและการสื่อสาร

บทเรียนที่สาม คือการบริหารเงินทุน ที่โควิดชี้ถึงความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจเจอกับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน หรือไม่ได้เตรียมตัวไว้ ทําให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบริษัทรุนแรง โดยเฉพาะต่อฐานะการเงินของบริษัท ดังนั้น การบริหารเงินทุนแบบระมัดระวังและมองไปข้างหน้าจึงสําคัญ เช่น เก็บส่วนหนึ่งของกำไรไว้เป็นเงินสะสมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมองเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่ปันผลกําไรทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้น หรือนํากําไรบางส่วนไปลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข้งให้บริษัทสามารถเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีมากขึ้น เช่น ลงทุนในระบบการบริหารความเสี่ยง ลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี หรือลดหนี้ หรือลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะยืนระยะได้ในกรณีที่จําเป็น นี่คือบทเรียน

บทเรียนที่สี่ คือ ความหนักแน่น ความเข้มแข้ง และความสามารถในการปรับตัว ที่เป็นลักษณะและคุณภาพสําคัญที่บริษัทต้องมีถ้าบริษัทจะอยู่รอดในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติที่ยากลำบาก ที่อาจเป็นความเป็นความตายของบริษัท นี่คือบทเรียนสําคัญที่วิกฤติโควิดชี้ให้เห็น ความหนักแน่นในการทําธุรกิจมาจากการมียุทธศาสตร์และเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นระยะยาวเพื่อเป็นหลักยึดในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็มีความคล่องตัวที่จะปรับตัวถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปมากโดยไม่ละทิ้งเป้าหมายที่วางไว้ นี่คือความหนักแน่น และต้องสนับสนุนด้วยระบบงานที่เข้มแข้งเช่นการบริหารความเสี่ยง การบริหารเงินทุน ขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นพอที่จะฉกฉวยโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นถ้าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบริษัท ด้วยเหตุนี้หลังโควิด เราจึงเห็นบริษัทปรับตัวมากในเรื่องนี้ คือ ยุทธศาสตร์ ระบบงานที่ควรมี การบริหาร และโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปรวมถึงกับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น

บทเรียนที่ห้า คือประโยชน์ของเทคโนโลยี ที่โลกทั้งโลกสัมผัสชัดเจนช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นการทํางานที่บ้าน การติดต่อสื่อสาร การซื้อของออนไลน์ และการส่งสินค้าถึงบ้านและออฟฟิศ นี่คือสิ่งที่ทำให้โลกทั้งโลกสามารถไปต่อได้ในช่วงโควิดระบาด และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ดิจิตอลเทคโนโลยีได้ช่วยประชาชนและภาคธุรกิจทั่วโลกในการปรับตัว หลังโควิดหลายจึงเรื่องกลายเป็นพฤติกรรมและทางเลือกปรกติของสังคมเพราะความคุ้นเคยกับการติดต่อสื่อสารด้วยดิจิตอลเทคโนโลยีของประชาชน ทําให้ดิจิตอลเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมสังคมและการทําธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ หลังโควิดบริษัทธุรกิจทั่วโลกจึงปรับตัวมากเรื่องเทคโนโลยี ทั้งเพื่อใช้ประโยชน์ของดิจิตอลเทคโนโลยี่ปรับปรุงกระบวนการทํางานภายในบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพื่อให้เทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มประโยชน์ในการตัดสินใจด้วยพลังของเทคโนโลยี่อย่าง AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Data Analytic และการทํางานแทนพนักงานในงานลักษณะประจำ คือ automation เพื่อให้พนักงานสามารถช่วยงานบริษัทในด้านอื่นๆ นี่คือการปรับตัวที่กําลังเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นแนวโน้มใหญ่สุดในธุรกิจโลกขณะนี้ และบริษัทในประเทศไทยก็กําลังทําอยู่

นี่คือห้าบทเรียนจากโควิดที่ได้นํามาสู่การปรับตัวของธุรกิจทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ใครที่ยังไม่ได้ทําก็คงต้องคิดและปรับตัว

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

เพิ่มเพื่อน