“แบงก์ชาติ” ยันไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด ขึง 3 เกณฑ์พิจารณาเข้ม ชี้ภาพเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อยังไม่เปลี่ยน ระบุต้องชั่งน้ำหนักให้ดี พร้อมพิจารณาว่าลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน แนะใช้มาตรการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ย้ำธนาคารกลางต้องมีอิสระในการดำเนินงาน
20 ก.ย. 2567 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ต่อปี ว่า ยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบกับตลาดการเงินและค่าเงินเป็นหลัก สะท้อนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากเงินดอลล่าร์ที่อ่อนค่าลง แต่ในมิติผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้ร้ายแรงหรือมากมายขนาดนั้น
ส่วนในแง่นโยบายการเงินของประเทศไทย ธปท. ยังคงเน้นพิจารณาจาก 3 ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจ ว่ามีการเติบโตเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่, อัตราเงินเฟ้อ ว่าจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่าจะค่อย ๆ เข้าสู่กรอบเป้าหมาย แม้ว่าจะช้ากว่าที่ประเมินไว้ และเสถียรภาพด้านการเงิน รวมไปถึงจะต้องคำนึงถึงภาพรวมการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันไปด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวมอย่างมีนัยต่อ 3 ปัจจัยดังกล่าว
“ตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจและภาพรวมอัตราเงินเฟ้อแตกต่างไปจากที่เคยมองเอาไว้ จะมีเพียงเรื่องเสถียรภาพด้านการเงินที่ ธปท. แสดงความเป็นห่วง โดยยืนยันว่า ธปท. ไม่ได้ฟิกซ์ หรือยึดติดกับอะไรพวกนี้ ตอนนี้หลัก ๆ ธปท. เน้น outlook dependent หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่เรามอง และเหมาะที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย เราก็พร้อมที่จะปรับ ซึ่งขอย้ำว่า การที่เรา outlook dependent ผมคิดว่าเป็นกรอบความคิดที่เหมาะสมและถูกต้องแล้ว เพราะที่อื่นเน้น data dependent แต่มันสร้าง noise ต่อตลาดเยอะ ถ้าเราโฟกัสข้อมูลล่าสุดมากเกินไป เป็นอะไรที่มีความผันผวน ไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราไม่อยากให้การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินไปซ้ำเติมเรื่องความผันผวน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิม กับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยต้องชี้แจงว่าภาระหนี้เป็นอะไรที่ ธปท. ก็เป็นห่วง เพราะมีสัดส่วนครัวเรือนไม่น้อยที่มีปัญหาอยู่ แต่ต้องพิจารณาว่าการลดดอกเบี้ย จะส่งผลไปถึงภาระหนี้ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะสัดส่วนไม่น้อยที่เป็นหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (ฟิกซ์เรต) ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้นแม้จะลดดอกเบี้ยแต่ภาระหนี้ส่วนหนี้ก็ไม่ได้ลด ดังนั้นคงพูดได้ยากว่า เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงทันทีแล้วภาระหนี้ของประชาชนจะลดตามไปด้วย ตรงนี้คงไม่ใช่
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่ ธปท. มี แต่ ธปท. ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็นนโยบายแบบผสมผสาน โดยยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เช่น การลดภาระหนี้ของคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ผลมากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้
“นโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยกระทบหลายด้าน แต่สำหรับปัญหาบางอย่าง ใช้มาตรการอะไรที่ตรงจุด ตรงนั้นน่าจะเหมาะสมกว่า โดยยอมรับว่าที่ผ่านมามีแรงกดดันมาที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตลอดเวลา ไม่ว่าเฟดจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย แต่ต้องเรียนว่า การที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยไม่ว่าเราก็จะต้องปรับลดด้วย ซึ่งเรื่องเฟดลดดอกเบี้ยก็กระทบปัจจัยอย่างอย่าง กระทบภาพรวม และกระทบตัวแปรที่เราต้องคำนึงถึง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณานโยบายดอกเบี้ย ซึ่งหากเราเป็นประเทศที่ฟิกซ์ค่าเงิน เช่น ฮ่องกง ตะวันออกกลาง เป็นต้น พวกนี้โดยปริยายที่จะต้องลดดอกเบี้ย แต่ของไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
สำหรับสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยอมรับว่าในระยะหลัง เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว และผันผวนมากกว่าบางประเทศ แต่ไม่ได้ผันผวนมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสกุลเงินอื่นผันผวนมากกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบกับทั่วโลก แต่ในไทยนั้นมีปัจจัยเฉพาะเพิ่มเข้ามา คือ ราคาทองคำ ที่เงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยปีนี้ บาทแข็งค่าไปแล้ว 3.1% (year to date)
ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็นคือ การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน หรือ hot money ซึ่งทำให้ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นโดยไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง แต่ปัจจุบัน ยังไม่เห็น hot money เข้ามา โดยภาพรวมเงินทุนในปีนี้ การไหลออกน้อยกว่าปีก่อน ปีก่อนเงินทุนไหลออก 9.9 พันล้านดอลลาร์ ปีนี้ประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินมีต้นทุนและผลประโยชน์ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องพยายามรักษาสมดุลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ธนาคารกลางทั่วโลก มีพันธกิจที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัวหรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงได้
ทั้งนี้ หน้าที่ในการ “มองยาว” ของธนาคารกลางจึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลาย ๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้างและย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอก็อาจทำให้เสียหลักการของการ “มองยาว” ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการในหลาย ๆ ด้านเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว