'เผ่าภูมิ'ชี้ดอกเบี้ยไทยควรขยับสอดคล้องโลก รับห่วงสินเชื่ออืด เล็งคุยแบงก์พาณิชย์เร่งเครื่อง

“เผ่าภูมิ” ชี้นโยบายดอกเบี้ยทั่วโลกเข้าสู่ช่วงขาลง มองดอกเบี้ยไทยควรขยับให้สอดคล้องทิศทางการเงินโลก แนะคลัง-แบงก์ชาติ ต้องพูดคุยใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสม รับห่วงสภาวะสินเชื่อในระบบอืด เล็งคุยงแบงก์พาณิชย์กระทุ้งเร่งเครื่องอัดฉีด

19 ก.ย. 2567 -นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ต่อปี จาก 5.30% ต่อปี เหลือ 4.80% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ในรอบกว่า 4 ปี ว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกน่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของวงจรเศรษฐกิจโลก โดยในส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่า จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการให้อัตราดอกเบี้ยนโบบายของเราสอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนทิศทางนโยบายการเงินของโลกด้วย

อย่างไรก็ดี เรื่องการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอิสระในเรื่องการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย แต่หากถามว่าจำเป็นจะต้องมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมที่สุด

“จำเป็นต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างคลัง ที่ดูนโยบายการคลัง และ ธปท. ที่ดูแลเรื่องนโยบายการเงิน เพราะปัจจุบันแม้จะเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของภาคการผลิตที่เริ่มเห็นสัญญาณบวกขึ้นบ้าง จากที่ติดลบหนักหลายเดือน และภาคการบริโภคที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แต่สิ่งที่คลังอยากเห็นคือโมเมนตั้มทางเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงส่งเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจำเป็นจะต้องทำงานสอดคล้องกันด้วย” นายเผ่าภูมิ ระบุ

สำหรับสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบกับภาคส่งออกโดยตรง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนเกินไป หรือแข็งค่าเกินไป รวมถึงต้องไม่ผันผวนจนเกินไป ขึ้น ๆ ลง ๆ เร็วเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36-37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และก็กลับมาแข็งค่าไปจนถึงระดับ 33 บาทต่อดออล่าร์สหรัฐ ช่องว่างตรงนี้กว้างเกินไป ดังนั้นการดูแลเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะค่าเงินที่ผันผวนจนเกินไปนั้นจะส่งผลให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจได้ยาก

อย่างไรก็ดี ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น ในช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้ ได้เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท สำหรับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลเล็ต นั่นหมายถึงเมื่อเม็ดเงินลงไปก็จะมีแรงส่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากแรงส่งในส่วนนี้สามารถผสานกันระหว่างนโยบายการเงินเข้ามาร่วมด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะแม้ตัวเลขของภาคการผลิตจะฟื้นดีขึ้น แต่ก็ยังมีตัวเลขของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ยังน่ากังวลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ยังไม่เข้ากรอบ และเงินเฟ้อยังไม่ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีพอ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะจุดที่น่าเป็นห่วงในระบบ โดยเฉพาะสถานการณ์สินเชื่อที่ยังชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินของรัฐในการเร่งปล่อยสินเชื่อ เร่งเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจจะยังเห็นเรื่องนี้น้อยอยู่ โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี

“มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยและหารือกันต่อไปเกี่ยวกับเรื่องภาวะสินเชื่อในปัจจุบันที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคลังเองไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นเรื่องแบบนี้จึงจำเป็นและสามารถที่จะพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัวร่วมกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ประสานกับ ธปท. และแบงก์พาณิชย์เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกันคลังเองก็พยายามสร้างกลไกเพิ่มเติมในการเข้าไปเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น รับความเสี่ยงได้มากขึ้นผ่านกลไกของโครงการ PGS ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และกำลังจะมีการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมา แต่ส่วนนี้ต้องใช้เวลา เพราะกำลังแก้ไขกฎหมาย และจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะมีการประชุมในเร็ว ๆ นี้ โดยบทบาทของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ พิจารณาภาพรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด ไม่เพียงแค่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่จะดูว่าควรจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน ในช่วงเวลาไหน ด้วยปริมาณเงินเท่าไหร่ และด้วยวิธีการอะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ คงต้องรอให้มีการประชุมก่อน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง