'พิชัย' นัด 'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ถกกรอบเงินเฟ้อ ลุ้นเครดิตประเทศขยับแตะA- หลังศก.ขาขึ้น

“พิชัย” เตรียมนัด “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ถกกรอบเงินเฟ้อ เหตุอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป มองสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น เหมาะติดเครื่องเข็นโตแบบก้าวกระโดด หวังบริษัทจัดอันดับขยับเครดิตเรตติ้งประเทศ ทะยานสู่ระดับ A- พร้อมจัดแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 68 ลุยกู้ใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท เคาะหนี้สาธารณะแตะ 66% หลังประเมินจีดีพีโต 3% ก่อนทยอยลดลงในปีงบ 2570

18 ก.ย. 2567 -นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการนัดกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อเรียบร้อยแล้ว โดยจุดยืนของกระทรวงการคลัง มองว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจทุกอย่างดีขึ้น รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน สะท้อนจากความเชื่อมั่นต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อมั่นในตลาดทุนที่เริ่มกลลับมา ดังนั้นมองว่าอาจจะเป็นจังหวะเหมาะที่จะต้องเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ที่แม้จะมีการเติบโตแต่ก็เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมในหลายมิติแล้ว ก็อยากจะเห็นกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาหน่อย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ และที่ผ่านมาจะได้รับการชี้แจงว่าในระยะข้างหน้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้คงเห็นแล้วว่ายังไม่สูงขึ้นเสียที มันต่ำแล้วก็ต่ำอยู่เรื่อย ๆ จึงมองว่าควรจะเป็นตอนนี้ที่เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจน โดยต้องรีบคุยเรื่องนี้กันได้แล้ว

“หากคิดแบบชาวบ้านไม่ต้องคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์มากนักว่าเงินเฟ้อต่ำคนซื้อของก็จะบอกว่าดี ของถูก แต่ในมุมคนขายก็จะแย่ แล้วจะบอกว่าไม่เป็นไรนี่ เราก็บริโภคกันต่ำ ๆ ดีแล้ว แต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจเราผูกกันหมด คนบริโภคถ้าได้บริโภคของถูกก็จะชอบ แต่จะชอบได้ไม่นาน เพราะคนผลิตจะมีปัญหาจนผลิตไม่ได้ และต้องหยุดผลิต ของจะหายจากตลาด สุดท้ายของก็จะแพงเอง ดังนั้นการอยู่ร่วมกันมันจะต้องพอดี ต้องมีค่าเงินเฟ้อที่เหมาะสม ส่วนจะเหมาะสมที่เท่าไหร่ก็ต้องไปดูสถานการณ์โลกด้วย ดูเพื่อนบ้านด้วย ดูคู่แข่งด้วย ผมว่าเรื่องนี้ ธปท. คงคิดแทนเอง เพราะเป็นคนเก่ง แต่ก็ต้องมาคุยกันด้วยเหตุและผล” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ยังกล่าวถึงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ว่า ได้มีการจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง ตั้งแต่ปี 2567-2570 (4ปี) ซึ่งได้มีการคำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีออกมา โดยยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยในปีงบประมาณ 2568 จะมีหนี้ที่เกิดจากการกู้ใหม่ราว 1.05 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการกู้ชดเชยขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท และเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2.79 แสนล้านบาท ขณะที่เป็นการ roll over วงเงิน 1.52 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ 1.24 ล้านล้านบาท การออก T-Bill จำนวน 5.2 แสนล้านบาท การออก Loan Bond 3.27 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.24 แสนล้านบาท และการออก PN/TL จำนวน 2.77 แสนล้านบาท


โดยมีการประเมินว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ราว 66% ภายใต้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวที่ระดับ 3% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63% ต่อจีดีพี และ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 65% ต่อจีดีพี และประเมินว่าตัวเลขหนี้สาธารณะตามแผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง ในปีงบประมาณ 2569 จะเริ่มนิ่งขึ้น และในปีงบประมาณ 2570 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเริ่มปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ มองว่าความเสี่ยงในการบริหารหนี้สาธารณะมีเพียงไม่กี่ปัจจัย เช่น ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการกู้ต่างประเทศน้อยมาก จึงบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ไม่ยาก, ความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็ได้มีการหารือว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว และอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่อย่างไร


“หากมองแนวโน้มดอกเบี้ยหลังจากนี้น่าจะเข้าสู่ช่วงขาลง โดยมีการประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็น่าจะลดลง ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยก็เชื่อว่าน่าจะปรับลลดลงด้วยเช่นกัน แต่เรื่องนี้ ธปท. มีความเป็นอิสระในการพิจารณา คงถามผมไม่ได้ แต่ถ้าให้มอง ผมมองว่าหากประเทศมหาอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปกติประเทศไทยเป็นประเทศที่เรื่องเงินทองผูกติดกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ทุกครั้งที่เขามีการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยก็จะมีผลกระทบกับเรา เงินไหลเข้าออกพอสมควร ขณะที่หลายปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจตอนนี้เริ่มฟื้น มีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หลาย ๆ อย่างเชื่อว่า ธปท. น่าจะพิจารณาในหลาย ๆ เรื่อง คงดูเรื่องเงินเฟ้อว่าจะขยายตัวขึ้นหรือไม่ ปีนี้เคยคิดที่ 2.4% จะขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่ ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการพิจารณา” นายพิชัย กล่าว


อย่างไรก็ดี มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยทุกอย่างดีขึ้น ก็เชื่อว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ก็น่าจะได้ขยับเครดิตขึ้นเป็นระดับ A- จากปัจจุบันที่ BBB+ ซึ่งขณะนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือกำลังทยอยเข้ามาเก็บข้อมูล โดยเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เขาอยากเห็นคือ ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันนิ่งขึ้น และดีขึ้น ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ได้เครดิต A- ส่วนปัญหาเรื่องการเมืองทุกประเทศมีเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าที่ประเทศไทยการเมืองเสียงดังไปหน่อยเท่านั้นเอง
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยนั้น นายพิชัย ระบุว่า กำลังเร่งดำเนินการอยู่ อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็น ๆ เพราะเป็นมูลหนี้ขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องดูวิธีการเพื่อที่จะไม่ทำให้คนเสียวินัยการเงินด้วย

เพิ่มเพื่อน