อุตฯ ลุยปล่อยสินเชื่อ 2 กองทุน วงเงินรวม 1.9 พันล้านบาท พัฒนาเอสเอ็มอีเพิ่มขีดความสามารถการทำงาน รักษาสภาพคล่อง เสริมแกร่งฝ่าวิกฤต
17 ก.ย. 2567 – นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนฯ ได้ออกสินเชื่อ 2 โครงการ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยมีวงเงินรวม 1,900 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 1,200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนานวัตกรรม การปรับปรุงเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1. เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 ของการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง นับถึงวันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 2. เอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหน่วยร่วมดำเนินการ หรือสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
และ 3. เอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ แต่มีความประสงค์เข้ารับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งด้านคุณสมบัติของผู้กู้ ประกอบด้วย เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และมีขนาดของกิจการตามที่กำหนด เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถนับรวมประสบการณ์การบริหารธุรกิจของผู้บริหารได้ไม่เป็น NPL หรือถูกดำเนินคดี ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ มีประวัติการชำระหนี้ปกติ ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากโครงการอื่น ๆ ที่กำหนด สามารถยื่นความประสงค์ได้ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
สำหรับรูปแบบการให้สินเชื่อนั้น จะมีกรอบวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจหรือมีบุคคลค้ำประกัน
และโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงิน 700 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ และเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ กลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้กู้ มีลักษณะเดียวกันกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (เสือติดปีก) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 700 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย เป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5-7% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจ หรือบุคคลค้ำประกัน
“สินเชื่อดังกล่าวของกระทรวงถือว่าเป็นที่แรก และที่เดียวที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลสามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาขอสินชื่อได้ โดยมองว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีความเก่ง และแนวโน้มของธุรกิจน่าจะไปได้ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างให้กับเอสเอ็มอีรายอื่นในประเทศได้ โดยโครงการสินเชื่อเสือติดปีกเปรียบเสมือนการติดปีกให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นสินเชื่อที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย ขณะที่โครงการสินเชื่อคงกระพันเปรียบเสมือนการเสริมเกราะป้องกันให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้เข้มแข็งและสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้ เป็นสินเชื่อที่ซ่อมแซมและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย”นายณัฐพล กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท