'พิชัย' ขอนัดพบ ผู้ว่า ธปท. เสนอลดดอกเบี้ย แก้บาทแข็ง เติมสภาพคล่อง

“พิชัย”ขอนัดพบ ผู้ว่า ธปท. เสนอลดดอกเบี้ย แก้บาทแข็ง เติมสภาพคล่อง เผยไม่ได้มีปัญหาอะไร แค่อยากให้เศรษฐกิจดี มึนวิธีคิด ไม่ควรเน้นจีดีพี ทั้งที่จีดีพีหมายถึงรายได้ ตอนนี้คนไม่มีรายได้ จะมีความสุขได้อย่างไร

16 ก.ย. 2567 – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ จะนัดพบกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเสนอ 3 เรื่อง ให้ ธปท. ช่วยดูแลเศรษฐกิจและการส่งออก ได้แก่ 1.ขอให้ลดดอกเบี้ย เพราะขณะนี้เงินเฟ้อลดแล้ว และสหรัฐฯ ก็เตรียมลดดอกเบี้ย จึงควรปรับลง 2.แก้ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งขณะนี้ค่าเงินแข็งค่าเร็วมากเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงเดือนเดียวแข็งค่าขึ้นถึง 5-6% ผู้ส่งออกจะตาย อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีกำไรไม่สูงอย่างสินค้าเกษตรอาจจะขาดทุนได้ และ 3.ต้องการให้แบงก์ชาติเข้าดูแลการเพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันระบบของแบงก์ชาติได้ดูดเงินออกไปมาก จนทำให้เศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแล้ว ก็จะยิ่งอยู่อย่างยากลำบาก

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ต้องการไปพบกับผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ ธปท. แค่อยากให้เศรษฐกิจดี โดยหากเศรษฐกิจไทยโต 5-6% โตร้อนแรง ก็ไม่ประเด็น แต่ตอนนี้จีดีพีโตเพียง 1.9% และส่วนใหญ่ก็เป็นรายได้ของเศรษฐี คนจนแทบไม่มีรายได้ แต่แบงก์ชาติกลับไม่ทำอะไร ทั้งที่จริงควรเข้ามามีบทบาท ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อเศรษฐกิจ  ไม่ใช่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว หรือพอรัฐบาลจะทำอะไร จะคอยแต่ค้าน อยากให้ดูเหมือนสหรัฐฯ ก็ยังมีมาตรการคิวอีใส่เงินไปหลายรอบจนเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้

“ตอนนี้ ค่าเงินบาทแข็งไป แบงก์ชาติกรุณาช่วยด้วย และไม่เข้าใจวิธีคิดของแบงก์ชาติ งงว่าแบงก์ชาติ บอกว่าไม่ควรเน้นจีดีพี ไม่รู้ท่านจบจากไหน พูดเหมือนคนไม่รู้เรื่อง ทั้งที่จริงจีดีพีหมายถึงรายได้ หากคนไม่มีรายได้ จะมีความสุขได้อย่างไร โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้นการทำนโยบายแบบคู่ขนาน หรือดูอัล แทร็ก คือ การสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตทั้งคนระดับบนและระดับล่าง ซึ่งเรื่องนี้นโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีความสำคัญมาก และมากกว่านโยบายทางการคลังเสียอีก”นายพิชัย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พาณิชย์'จ่อใช้ยาแรงสกัดกั้นการนำเข้าขยะ

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เตรียมยกระดับมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าขยะ หากยังพบว่ามีการสำแดงสินค้าว่าเป็นเศษกระดาษที่คัดแยกประเภทแล้วนำเข้ามาเพื่อรีไซเคิล แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสินค้ามีขยะเจือปนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นของเสียอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม