จากปัจจัยภายนอกและภายในที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทในเครือต้องปรับตัว ทั้งเพื่อความอยู่รอดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องขับเคลื่อนพลังงานสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD”
16 ก.ย. 2567 – นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ตอกย้ำอีกครั้งถึงทิศทางกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. หลังจากเดินทางไปศึกษาดูงานด้านพลังงานสะอาดและเทรนด์พลังงานแห่งอนาคต ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดระดับต้นๆ ของโลก ว่า สิ่งที่เราทำมันต้องสอดคล้องไปกับเทรนด์ของโลก การเปลี่ยนถ่ายของพลังงาน เรื่องต่างๆ เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยน เรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นโจทย์ปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ แต่จะเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ
“ทิศทางของ ปตท.คือ เราต้องทำในสิ่งที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนไปด้วย ทุกอย่างมีคอสต์ คือเราก็จะเอาเงินที่กำไรไปจ่ายให้กับการสร้างความมั่นคงในพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวโยง และลดคาร์บอนไปด้วย มันก็จะประยุกต์ใช้ จัสติฟายความคงอยู่ของเรา เราก็สามารถทำธุรกิจที่เราถนัดได้ ฉะนั้นบริบทของการคุยกันในวันนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าเราเชื่อว่ามันไม่มีค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาเรื่อง Climate change แต่ถ้าเราเชื่อ ก็นี่แหละคือทิศทางของ ปตท.”
ซีอีโอ ปตท.อธิบายให้เห็นภาพ ในโอกาสที่เยี่ยมชม The Komekurayama Electric Power Storage Technology Research Site (Hydrogen) ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Water Electrolysis) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนเพื่อนำไปสู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งในอนาคต ตามด้วย Meguro Incineration Plant (โรงงานเผาขยะผลิตไฟฟ้า) และ CCU Project (MHI), Yokohama Demo Set (โครงการนำร่องการดักจับและนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ (Carbon Capture and Utilization-CCU) เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“พลังงานแห่งชาติ และความมั่นคงทางพลังงาน เราพูดเรื่องนี้สักเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เราก็ไม่ค่อยสนใจมันมากว่าไม่มั่นคงคืออะไร ก็มีใช้ พลังงานก็ไม่แพงมาก ทุกคนคิดว่าไปได้ แต่ตอนนี้ความไม่แน่นอนและมีการทำสงคราม 90% เป็นการสร้างกลยุทธ์ของมหาอำนาจ การกีดกันทางการค้า โลกนี้ก็วุ่นวาย เราจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในการบริหารจัดการพลังงานเพื่อความมั่นคง ปตท.เองก็มีการวิเคราะห์มุมมองของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น สังคม อะไรต่างๆ ก็พบว่าเราก็ต้องสร้างความสมดุลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม ชุมชน อะไรต่างๆ …ในเรื่องพลังงาน เพราะฉะนั้นการต้องมีพลังงานที่ใช้พอเพียงเหมาะสม ด้วยส่วนผสมของพลังงานที่เราใช้ให้ไม่แพงเกินไป แต่ก็สอดคล้องกับการเปลี่ยนถ่าย นี่คือเป้าหมาย…. ปตท.ต้องเติบโต ปีนี้ขอบอกว่ารีโฟกัสเรื่องเบสิก หนึ่งทำส่วนที่ถนัด สองเน้นไฮโดรคาร์บอน แก๊ส น้ำมันอะไรต่างๆ คู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก”
เดินหน้าธุรกิจใหม่ด้วยหลัก C3
ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business
ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business
การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All
เป็นทิศทางที่ ปตท.จะเดินหน้าตั้งแต่ปีนี้ ซึ่งมีทั้งที่กำลังทำอยู่ ทำไปแล้ว และกำลังจะทำ ซึ่งเป้าหมายก็คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน
นายคงกระพันชี้ว่า “ไฮโดรเจน เรื่อง Carbon Capture เป็นตัวอย่างของการเอาเรื่องความยั่งยืน เรื่องการลดคาร์บอนไปเสริมในธุรกิจอย่างที่ผมได้อธิบายตอนแรก เราสามารถบริหารธุุรกิจแก๊ส ธุรกิจน้ำมันทั้งหลายกำไร ทำไปได้ แต่ว่าเราเอาส่วนหนึ่งของกำไรมาทำเรื่องไฮโดรเจนและลดคาร์บอน นี่ก็เป็นภาพกลยุทธ์ ข้างบนเราบอกสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล อันนี้คือคีย์เวิร์ด”
ฉะนั้น เป้าของ ปตท.คือ ต้องการสร้างความเติบโตของกำไรคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งธุรกิจของ ปตท.ในปัจจุบัน ที่จะเป็นโอกาสสร้างการลงทุนให้เกิดธุรกิจใหม่เกี่ยวกับไฮโดรคาร์บอน และกักเก็บคาร์บอน ตอบโจทย์ Net Zero
“ธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส น้ำมัน ปิโตรเคมี โรงกลั่น ทุกอันได้ประโยชน์หมด และมีการขยายสู่ธุรกิจยา เวชภัณฑ์ รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ และมีธุรกิจค้าปลีกที่เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ ก้าวต่อไปคือ ไฮโดรคาร์บอน อันนี้เป็นโอกาสที่ทุกคนมองว่าเรื่องการลดคาร์บอนเป็นคอสต์ มันเป็นคอสต์ก็จริง แต่บริษัทอย่าง ปตท.นี่มองให้เป็นโอกาส อย่างไฮโดรเจนเราใช้แทนเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติอะไรต่างๆ มันแพงกว่าอยู่แล้ว ก็เป็นคอสต์ มีการลดคาร์บอน แต่เป็นโอกาส คาร์บอนแคปเจอร์ก็เช่นกัน เราก็บูรณาการเรื่องความยั่งยืน ปตท.ทำเรื่องนี้ ไม่มีใครทำได้” ซีอีโอกล่าว และเปิดเผยด้วยว่า
เรื่องเน็ตซีโร 2050 เราตั้งเป็นบรรทัดฐาน C3 ทำสามเรื่อง C ตัวแรกเรียกว่า ไคลเมตเชนจ์ คือปรับกระบวนการจัดการ ยกตัวอย่างคือลงธุรกิจที่มีกำไรแต่คาร์บอนน้อยลง ยกตัวอย่างอีกอัน อันนี้ง่ายสุด “ไฟฟ้า” แทนที่จะใช้ถ่านหินก็ไปใช้ตัวที่มันสะอาด ก็เป็นการปรับพอร์ตไฟฟ้าเรา หรืออย่างจีซีไปลง…คาร์บอนน้อยกว่าลงพวกฟอสซิล
C อันที่สอง คาร์บอน อันนี้ลดด้วยตัวเอง อันนี้คือเอาเทคโนโลยีมาใช้ในโรงงานต่างๆ เราก็ไปลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งก็จะลดได้พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาโรงงานอะไรก็ตามในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี โรงกลั่นไฟฟ้า โรงแก๊ส ทำพวกนี้แทบตายด้วยเงินลงทุน ความคุ้มค่ายังไงก็ต้องเหลือครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าคาร์บอน ฉะนั้นก็จะต้องสีเขียว ชดเชยด้วยการเก็บ ทำคาร์บอนแคปเจอร์ ด้วยเทคโนโลยี ด้วยการลงทุนเราก็ต้องเก็บคาร์บอนที่เหลือ
“บริษัทในกลุ่ม ปตท.ต้องปรับยังไง ต้องทำแผนกลยุทธ์ชี้ให้เห็นว่า ทำไฮโดรคาร์บอนก็จริง แต่ทำแล้วมันปล่อยคาร์บอนน้อยลงจากที่เคยทำ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตอันนี้ยากเลย เอาพลังงานสะอาดมาใช้ ใหม่ๆ มาใช้ อันนี้คือว่าไม่ได้มั่วนะทำจริง อันนี้เรื่องสำคัญที่เราคุยคือ ปลูกป่า อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว เราปลูกไปทั้งหมดก็ยังเหลือเยอะ คาร์บอน ฉะนั้นสิ่งที่ทำตอนนี้เราทำเป็นกลุ่มแล้ว ถ้า ปตท.ทำไม่ได้นะไม่มีใครทำได้ในประเทศ เพราะว่ามันต้องลงทุน ต้องทำเป็นธุรกิจให้ได้ อันนี้คือเก็บ ใครเป็นคนปล่อย เก็บเอง โรงงานกำจัดขยะด้วยพลังแสงอาทิตย์ เป็นตัวอย่างที่ชัด เผาขยะแล้ว มีคาร์บอนปล่อยออกมา ทางโรงงานเก็บดึงมาเข้าถังเก็บเลย เก็บไปทำอะไรนั้นแต่ละคนมีความเร่งด่วนต่างกันในการเก็บ”
ซีอีโอ ปตท.ชี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนอีกว่า ด้วยทิศทาง C อันที่สาม ความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ขับเคลื่อนให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ อาทิ ต้องทำไฟสะอาดให้เร็วขึ้นก็เร่งทำ จีซีขายของไปต่างประเทศเยอะ ลูกค้าต่างๆ ก็มีความคาดหวังว่าต้องมีโพลิเมอร์พลาสติกที่มาจากกระบวนการสีเขียว ทุกอย่างต้องดีมากขึ้น เพราะลูกค้าปลายทาง สำหรับไทยออยล์อาจจะช้ากว่าในเรื่องนี้เพราะว่าขายน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ทุกอย่างไม่ใช่เราหลับหูหลับตาทำหรือลงทุนไป มันต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า สปีดของตลาดที่จะกดดัน
“เราเป็นกลุ่ม ปตท. เราควรจะทำที่มันลดได้จริง อาจจะสงสัยว่าทำแล้วคาร์บอนก็ไม่ได้ลดลง แต่เราเก็บจริงตัว CO2 ก็จะลดลง ตรงนี้มันเป็นธุรกิจ ตอนทำทั้งกลุ่มแค่พวกเราดูว่าเราปล่อย ประมาณ 50 ล้านตันต่อปี C สองอันแรกบอกเก็บได้ครึ่งหนึ่ง เอาเป็นว่าเราต้องเก็บด้วยเทคโนโลยี อย่างน้อย 20 ล้านตันต่อปี แปลว่าเราไปลงทุน ไปซื้อบริษัทจอยเวนเจอร์ ที่ทำเรื่องเก็บคาร์บอน แค่ใช้เองก็คุ้มแล้ว แต่อย่าลืมว่าในประเทศไทย โรงปูน โรงไฟฟ้ามีอีกมหาศาล เป็นร้อยล้านตัน ต่างประเทศอีก เพราะฉะนั้นการที่มีเทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอน และเราพัฒนาให้มันถูกลงเรื่อยๆ ปตท.จะไปลงทุนตรงกลาง”
โอกาสของ ปตท. ด้วยกลยุทธ์ C3 นายคงกระพันอธิบายต่อว่า ปตท.มีหน้าที่สองอย่าง คือ สร้างอินฟราสตรักเจอร์ คือ พอเราเก็บตัว CO2 มา มันเป็นของเหลวก็ต้องมีท่อเชื่อมจากโรงงานต่างๆ ปั๊มวิ่งมาและไปอยู่ถัง ก็ไปสร้างถังริมทะเล สิ่งที่พูดแค่นี้ก็สำคัญมาก ประเทศไทยต้องการเรื่องการลงทุน ปตท.มีสองหน้าที่ในเรื่องนี้ กับการทำงานกับภาครัฐ ตอนนี้เรื่องการเก็บอะไรต่างๆ อย่างที่บอกคือ กฎหมายยังไม่มีก็ต้องทำปลายทาง ปตท.สผ.เขาเก่งอยู่แล้ว ก็ปกติก็เอาขึ้นมาเก็บออกไป เรื่องธรณีวิทยาอะไรต่างๆ ไม่ได้ต่างกันมาก
สำหรับวิธีเก็บมันมีหลายวิธี ถ้าในทะเล สองอันหลักคือ ในหลุมแก๊สที่ปิดตัวลงไปแล้ว แก๊สที่เราเอาขึ้นมาก็อัดกลับเข้าไป CO2 เป็นของเหลวที่อยู่ใต้ทะเล มีความดันสูง ก็ยังเป็นของเหลวต่อไปคงสภาพ แต่ว่าเมืองไทยมันมีโครงสร้างอันหนึ่งที่เรียกว่าบ่อน้ำเกลือ พวกนี้แค่ฉีด CO2 ลงไปในหลุมจะเก็บไว้ได้ ในประเทศไทยใกล้ฝั่งแถบมาบตาพุดมันมีอันใหญ่ที่สำรวจแล้ว และ ปตท.สผ.ก็ทดลองทุกอย่าง ทำเป็น sandbox เก็บได้สักล้านตันไม่เยอะ แต่เป็นแซนด์บ็อกซ์ อันนี้บนบกก็เก็บได้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเก็บอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะเก็บปุ๊บได้ 80 เหรียญฯ ต่อตัน อเมริกาเริ่มมีการลงทุนด้านนี้เยอะ
สรุปคือ กลุ่ม ปตท.ทั้งหมดมีหน้าที่ทำงานก็ทำไปเลย รายได้ มีกำไรก็ไปลดคาร์บอนเท่าที่ทำได้ ที่ทำได้สองข้อแรก แต่ถ้าเหลือก็ทั้งกลุ่มมาช่วยกันทำ เมืองไทยคงทำอย่างนี้ไม่ได้เยอะ ก็สามารถขายให้พวกโรงไฟฟ้า โรงปูนต่างๆ ก็มาใช้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ต้องการซิงค์ที่เก็บ สิงคโปร์ตอนนี้ก็มีแผนที่จะต้องเอาคาร์บอนใส่เรือ ต่างชาติก็อาจจะได้ด้วย
“เอาเป็นว่าประเทศไทยถ้าเรามี Carbon Capture and Storage หรือ CCS เราสามารถเอาไฮโดรเจนปกติมาใช้ในการผลิตไฮโดรเจนกรีนได้ ต้องไม่ปล่อยคาร์บอน แต่ทีนี้สมมุติถ้าเราผลิตไฮโดรเจนแต่คาร์บอนที่เป็นของแถมมา เราเอามาแคปเจอร์เท่ากันก็โอเค ประเทศไทยกรีนทำได้แล้ว สิบปีมันคุ้มก็โอเค และเราก็เอามาผสมและนำเข้ามา ไฮโดรเจนขนส่งยากก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นแอมโมเนีย ปตท.ลงอินฟราสตรักเจอร์เพื่อให้ไฮโดรเจนในประเทศไทยมีใช้ ทุกคนใช้ได้หมด”
ภาพรวมของอนาคตธุรกิจด้านพลังงาน ชัดเจนว่า ปตท.กำลังเดินหน้าอย่างจริงจัง ให้สมกับที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็น ปตท.เอง GPSC, Thaioil, IRPC, GC ก็จะลงทุนในเทคโนโลยีการกักเก็บ ดึง CO2 จากอากาศเก็บลงมา ปตท.จะลงตรงกลาง คือลงทุนโครงสร้าง สร้างท่อเก็บ CO2 ถังต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการแก้ไขกฎหมายควบคุม เรื่องอะไรต่างๆ ส่วนปลายทางที่ลงไปเก็บในทะเล ปตท.สผ.ก็จะทำหน้าที่นั้นเพราะว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ตอนนี้ ปตท.ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาแล้ว เริ่มทำแผน ทำทุกอย่าง อยู่ในแผนกลยุทธ์แล้วทุกอย่าง คาดว่าหลังปี 2030 จะเห็นผล.