สศอ.ชี้ปัญหาอุตสาหกรรมไทย หวั่นความสามารถในการแข่งขันลดลง ผุดไอเดียจัดทำดัชนี MPI รายพื้นที่ หวังปรับโครงสร้างสู่ยุคใหม่ มีข้อมูลเชิงลึกเอื้อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมแนะใช้ต้นทุนในพื้นที่อย่างเหมาะสม
12 ก.ย. 2567 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยในฐานะประธานเปิดงานและกล่าวในงานสัมมนา “Transform Regional Industry to the Future : อุตสาหกรรมไทยต้องปรับ หรือ เปลี่ยน” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมในระดับรายพื้นที่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยผลิตไปจำหน่ายไม่ตรงกับความต้องการของโลก นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผลิตภาพด้านแรงงานของไทยถดถอยลง ทำให้ระดับความสามารถในการแข่งขันลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่
ทั้งนี้ สศอ. จึงได้ขยายการดำเนินงานด้านข้อมูลและการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ให้รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ จึงได้มีการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องมือให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมรายพื้นที่ และเมื่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กล่าวไปแล้วนั้นเริ่มดำเนินการ MPI จะเป็นเครื่องมือที่เป็นตัวชี้วัดทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน โดยจะขยายจากกลุ่มจังหวัดพื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“การดำเนินงานของ สศอ. ในด้านการพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายพื้นที่ ได้ถูกจัดทำขึ้นภายใต้โครงการฯ ให้มีความครอบคลุมและหลากหลายระดับพื้นที่มากขึ้น อาทิ ภูมิภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การนำแนวคิด BCG หรือ ESG มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่ลงไปในเชิงพื้นที่ จะเป็นการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือจากการพัฒนาพื้นที่ EEC แต่การพัฒนาจะกระจุกอยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการกระจายการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ หรือการปักหมุดอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุดิบหรือศักยภาพในพื้นที่ เช่น ภาคใต้มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ แรงงานจะเป็นแรงงานที่มีฝีมือซึ่งเหมาะสมกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมากเหมาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น
“ภาคอุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวมุ่งสู่การผลิต High Standard ที่ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต การคำนึงถึงการผลิตที่ตอบโจทย์ของชุมชนและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการที่โปร่งใส คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือการผลิตที่เป็นไปตามแนวคิด ESG จากแนวคิดที่กล่าวมานั้น สศอ. ได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องการท่องเที่ยว และสอดรับกับนโยบายรัฐบาล Soft Power โดยการดำเนินงานผลักดันอุตสาหกรรมที่กล่าวมานั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการ Reshape the Future ของภาคอุตสาหกรรมไทย”นางวรวรรณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะใส' เขย่า 'แจกเงินหมื่น' หอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนรัฐบาลแพทองธาร
“สุริยะใส” ชี้จุดสลบใหญ่เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเรือธงอย่างดิจิทัล แจกเงินหมื่นเป็นหอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนของรัฐบาลแพทองธาร