‘พีระพันธุ์’ แย้มจ่อตรึงราคา LPG ต่อ 3 เดือนจนถึงสิ้นปี พร้อมลุยแก้กฎหมายรัว คุมราคาน้ำมัน กำหนดสต็อกปริมาณใหม่ พร้อมปลดล็อกโซลาร์ประชาชน เข้าสภาปีนี้ จับตากองทุนน้ำมัน ผุดวิธีลบหนี้แสนล้านบาท
11 ก.ย. 2567 – นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนา “พลังงานสะอาด” ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดถัดไปภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2567 นี้จะมีการพิจารณาถึงสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ของตลาดโลก รวมถึงสถานะกองทุนน้ำมัน โดนคาดว่าจะมีการต่ออายุราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน จากที่จะหมดอายุภายใน 30 ก.ย. 67 หรือต่ออายุถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่การกำหนดราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่เพดาน 33 บาทต่อลิตรนั้นที่จะหมดอายุในสิ้นเดือนต.ค. 67 ต้องรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้งว่าจะมีการตรึงหรือไม่
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขณะที่นโยบายพลังงานภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินหน้าตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ตามบันได 5 ขั้นที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งในระยะต่อไปจะเป็นการกำหนดกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่กฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง กฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์(โซลาร์) และกฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสํารองน้ำมันของประเทศ หลักการคือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป
“คาดว่า 2 ฉบับแรกจะเข้าสภาฯได้ภายในปีนี้ ส่วนฉบับที่ 3 จะเข้าสภาฯปี 2568 เมื่อกฎหมายทั้งหมดบังคับใช้จะสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานให้ประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันกำหนดราคาเอง เมื่อกฎหมายกำกับกิจการการค้าน้ำมันบังคับใช้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่มีความจำเป็น ส่วนหนี้กองทุนฯปัจจุบันกว่า 1 แสนล้านบาท ด้วยเครื่องมือใหม่จะหักลบหนี้ได้เองในอนาคต” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ จะต้องมีการรื้อระบบการค้าน้ำมัน ซึ่งต้องหาข้อมูลจำนวนมากเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและการยกร่างกฎหมายใหม่ให้ครบวงจร โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศและมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย โดยในอนาคตจะต้องมีการสำรองน้ำมันตามกฎเกณฑ์ของโลกอยู่ที่ 90 วันหรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร
“กองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทำเรื่องนี้แล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ผมนำเรื่องนี้หารือกับทางซาอุดิอาระเบียในช่วงที่เดินทางไปประชุม ทางซาอุฯ เขาเห็นด้วยในหลักการที่จะสนับสนุน ส่วนความคืบหน้าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกับกัมพูชา(โอซีเอ) นั้นไม่อยากให้เรียกพื้นที่ทับซ้อน เพราะเป็นการอ้างสิทธิพื้นที่ประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอยู่เดิม ต้องอยู่ที่รัฐบาลว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร” นายพีระพันธุ์ กล่าว