'เอกนัฏ' เข้ากระทรวงอุตฯวันแรก พร้อมลุยงาน ปิ๊งไอเดียรวมเงินกองทุนเป็น 'กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม'

เปิดตัว ‘เอกนัฏ’ เข้ากระทรวงอุตฯวันแรก พร้อมลุยงาน ผุด 3 พันธกิจเร่งด่วน ปิ๊งไอเดียรวมเงินกองทุนเป็น ‘กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ปรับการทำงานให้เปลี่ยนตามสถานการณ์และอัปเดตภารกิจใหม่ ๆ

11 ก.ย. 2567 – นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงานแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมแนะนำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (Industrial Reform) โดยมี 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน 1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด 2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SME ไทย และ 3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง new S-Curve กับประเทศ ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะรื้อปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย อัพสกิลผลิตแรงงานคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี บริหารจัดการค่าจับปรับด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องพึ่งพางบกลาง

“การรวมกองทุนนั้น เป็นการปรับการทำงานให้เปลี่ยนตามสถานการณ์และอัปเดตภารกิจใหม่ ๆ ทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในบางเหตุการณ์ ทำให้ไม่ต้องรอเงินเยียวยา โดยเงินดังกล่าวสามารถ นำไปยกระดับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถปรับตัวได้ โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาคน แรงงาน และบุคลากรให้เป็นไปตามกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรม รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมการลงทุนขนาดใหญ่และเพื่อรองรับการโยกย้ายฐานของกรมอุตสาหกรรม”นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวว่า วันนี้ถือโอกาสได้พูดคุยซักซ้อมแลกเปลี่ยนกับข้าราชการกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพราะการจะทำงานให้สำเร็จ สิ่งแรก คือต้องสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงลำพังอาวุธน้อย จึงต้องเริ่มต้นที่จะติดอาวุธ ด้วยการสร้างความร่วมมือในกระทรวงก่อน สร้างภาพเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน มีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน ไม่ใช่พูดวันนี้ แล้วอีก 1 ปี มาพูดเรื่องเดิมอีกไม่เอา

“วันนี้เป็นการซักซ้อมเข้ามาทำงานก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการหลังแถลงนโยบาย จึงถือโอกาสเข้ามาเซ็นบันทึกเป็นคติเตือนใจในการทำงาน นั่นคือความหวังของผมที่อยากจะทำให้เกิดผลสำเร็จในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็น รมต.อุตสาหกรรม ซึ่งหัวใจสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้คือ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยเพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกสิ่งสำคัญที่ต้องทำ จะมีเรื่องการกำจัดขยะพิษส่งผลกระทบทำร้ายชีวิตพี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ ซึ่งการเซ็นลงนามเป็นการเตือนตัวเองว่างานทุกอย่างจะทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที ทำทุกวินาที และจะไม่ยอมจนกว่างานที่ตั้งใจไว้จะสำเร็จ” นายเอกนัฏ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบ่ายวันที่ 11 ก.ย. 2567 นายเอกนัฏ จะลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าหน่วยงาน และทีมงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามรับฟังปัญหาการกำจัดกากขยะพิษที่บริษัท วินโพรเซส จำกัด จ.ระยอง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีวิน โพรเซส ศาลพิพากษาให้บริษัทจ่ายเงินชดใช้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถรับผิดชอบ โดยยังไม่มีการจ่ายเงินเลย 

นายเอกนัฏ กล่าวว่า นี่คือปัญหาของกฎหมายไทยมีช่องโหว่ ทำให้คนคิดหาประโยชน์จากช่องโหว่ ทำสิ่งที่ทำร้ายชีวิตประชาชน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ทำได้เดี๋ยวนี้ ทำทันที่อย่างยั่งยืนต้องมีการแก้กฎหมาย แก้กติกา ในพ.ร.บ.โรงงาน กำลังปรับแก้อยู่ อยู่ในชั้นการทำประชาพิจารณ์ ต้องมีการเพิ่มโทษ ระบุอำนาจควบคุมให้ชัดเจน ต้องมีการเพิ่มโทษ เพราะที่ผ่านมาอาศัยช่องโหว่ ยอมเสียค่าปรับ แต่ผลประโยชน์ธุรกิจเป็นพันล้าน เสียค่าปรับหลักแสนและนานๆ ปรับที ก็เป็นปัญหาสะสมหมักหมมมาเป็นเวลานานมาก เป็น 10 ปี

ดังนั้น สิ่งแรกต้องเร่งแก้กฎหมาย แก้กติกาไม่ให้กลุ่มนักธุรกิจสีเทามาหาประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชนได้อีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายเรื่องต้องได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่คุยกับนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปในพื้นที่สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำคือ การผันน้ำ เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน สารเคมี สารผิดจำนวนมากเมื่อน้ำไหลผ่านก็ไปหาประชาชนในชุมชน และพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรม ต้องเร่งเยียวยาก่อน

“ถ้าไม่แก้กฎหมาย ไม่แก้กติกา ไม่รื้อทั้งหมด ไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องทำ และที่สำคัญที่ลงพื้นที่ไปด้วยตัวเอง เป็นการส่งสัญญาณ เพราะธุรกิจเหล่านี้เกิดและเติบโตได้ตลอดเวลา 10-20 ปี เพราะพวกเรานิ่งเฉย เพราะบอกได้เลยว่าสูงสุดในกระทรวงอาจจะเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ หรืออาจจะทำแต่สัญญาณออกมาไม่ชัด ผมเลยถือโอกาสนี้ในงานชิ้นแรกไปลงพื้นที่เลย เพื่อส่งสัญญาณให้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยไม่ได้อีกแล้ว จะเอาเปรียบและทำร้ายประชาชนไม่ได้อีกแล้ว ไม่อยากให้วิน โพรเซสเป็นโมเดล ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของสังคม แต่ผมจะมีโมเดลของตัวเองในการจัดการสิ่งเหล่านี้”นายเอกนัฏ กล่าว

เพิ่มเพื่อน