'ธีระชัย' ร่อนจม.เปิดผนึกถึง รมว.คลัง เตือน กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจฝ่าฝืนกฎหมาย

10 ก.ย.2567- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องกองทุนวายุภักษ์ ๑

                                    ด่วนที่สุด

                                วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย

เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย จึงขอให้ข้อมูลมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของท่าน ดังนี

๑. ประวัติกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑

ปรากฏในข่าว The Standard ว่า กองทุนวายุภักษ์ ๑ จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นกองทุนรวมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐขณะนั้น และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน โดยแบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) และประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ต่อมาในปี ๒๕๕๖ บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ข้อมูล ณ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๗ กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งออกเป็นประเภทหลักทรัพย์ต่างๆ ตามข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗ สัดส่วนการลงทุนหลักคือ หุ้นสามัญ ร้อยละ ๘๘.๓๖ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ ๗.๐๑ ที่เหลือเป็นตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ฯลฯ

๒. หนังสือชี้ชวน

ปรากฏข่าวในสำนักข่าวมติชน หนังสือชี้ชวนระบุว่า

ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี ตลอดระยะเวลาการลงทุน ๑๐ ปีแรก และผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ส่วนผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะถูกคำนวณจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อาจไม่ได้รับเงินปันผลหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เงื่อนไขดังกล่าวจึงมีผลดังนี้

(ก) ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และโดยกองทุนฯ เป็นผู้รับประกันไม่ขาดทุนเงินต้น ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งในวันนี้อยู่ที่ร้อยละ ๒.๕๖๔ ต่อปี จึงชัดเจนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

(ข) ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้รับผลตอบแทนต่อเมื่อหลังจากหักผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน และทำให้โอกาสได้รับคืนเงินต้นลดลงเนื่องจากต้องหักการจ่ายเงินคุ้มครองเงินต้นแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน จึงชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

๓. การฝ่าฝืนกฎหมาย

(ก) เนื่องจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เป็นผู้ที่ลงทุนอยู่เดิมในปัจจุบันแล้ว การเข้าร่วมในโครงการนี้จึงเข้าลักษณะ “มัดมือชก” เป็นภาคบังคับโดยปริยาย (Fait accompli) มิใช่การตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนใหม่โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้และเป็นการตัดสินใจในเชิงธุรกิจที่จะยอมรับความเสียเปรียบให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป)

(ข) กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งตามข่าวในข้อ ๑. ข้างต้น เป็นกรรมสิทธิ์อยู่ในขณะนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ดังนั้น กติกาตามหนังสือชี้ชวนครั้งนี้ จึงเข้าข่ายเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ในอนาคต

(ค) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยอยู่ในขณะนี้ เสียเปรียบและอาจได้รับความเสียหาย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงต้องสอบถามความยินยอมจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)ทุกรายอย่างเป็นทางการเสียก่อน และในกรณีนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนจะต้องปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขนี้ เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะไปจุนเจือและรับประกันทั้งผลประโยชน์และการค้ำประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป)

และเนื่องจากเงินที่กองทุนฯ จะได้รับจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง จะไม่เหมือนการรับเงินจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปรับเงื่อนไขตามหนังสือชี้ชวนดังกล่าว จึงเข้าหลัก “เนื้อไม่ได้กิน-หนังไม่ได้รองที่นั่ง-แต่กระดูกแขวนคอ”

เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลให้การบริหารทรัพย์สินของรัฐมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป

และขอแนะนำให้ท่านสั่งการให้ทบทวนความถูกต้องเหมาะสมของโครงการนี้ และควรตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เสนอให้ดำเนินการสิ่งที่อาจผิดกฎหมาย และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง

อนึ่ง กรณีที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่ลงมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอนั้น

ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้ชัดเจนว่า เงื่อนไขที่จะกำหนดในหนังสือชี้ชวนจะมีผลเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์จากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ในปัจจุบันไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) อันจะมีผลทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เสียเปรียบและอาจได้รับความเสียหาย

ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการเสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรีที่ไม่โปร่งใสครบถ้วน

นอกจากนี้ ประโยชน์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗ ว่า

๑. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ใน ระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

๒. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทนซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ – ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท. ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ประโยชน์ดังกล่าวจะมีความเหมาะสมก็ต่อเมื่อมีกลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ที่เข้ามาร่วมลงทุนใหม่ และพร้อมสมัครใจเชิงการกุศล ยอมที่จะเสียเปรียบนักลงทุนทั่วไป ทั้งในด้านรายได้ประจำปีและการคุ้มครองเงินต้น
แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะดำเนินการในบทบาทดังกล่าว

อีกประการหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ควรไปเน้นเร่งทำงานด้านที่พยายามจะโปรโมท “อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้น” ท่านควรหันไปเน้นงานอื่นๆ ดีกว่าเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติให้ยั่งยืน การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ตลอดจนปรับปรุงเคร่งครัดในเรื่องธรรมาภิบาลตลาดทุน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์เอง

แทนที่จะไปคิดโครงการที่ถูกวิจารณ์ได้ว่าเป็นการมองเพื่อมุ่งประโยชน์ของกลุ่มประชาชนฐานะดีเป็นสำคัญ

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

                            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

                            ขอแสดงความนับถือ

                            (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
                             อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ยันชง ครม. เคาะ 'พ.ร.บ.กาสิโน' ปัดมุ่งพนันยกท่องเที่ยวบังหน้า

'พิชัย' ชง พ.ร.บ.กาสิโน เข้าครม. ย้ำไม่ได้มุ่งการพนัน หวังเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยว พร้อมกํากับคุมเข้ม รับมี บางหน่วยงานเป็นห่วง

'รมว.คลัง' เผยสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ขั้นตอนเร็วกว่าเดิม

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการสรรหาประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ได้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

รมว.คลัง เผย แจกหมื่น เฟส 2 เข้าครม. วันนี้ ได้เงินไม่เกิน 29 ม.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการแจกเงินหมื่น เฟส 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ เข้าที่