'กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง' พร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม1-1.5 แสนล้านบาท

“กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” พร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท ชูอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 3.0% ต่อปี และขั้นสูงไม่เกิน 9.0% ต่อปี คงที่ตลอด 10 ปี พร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศจองซื้อวันที่ 16 – 20 ก.ย.นี้ ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท เสนอขายผ่านบริษัทจัดการ และธนาคาร 6 แห่ง ผู้ลงทุนรายย่อยได้รับการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First เพื่อกระจายหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียม และคาดว่าจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้

9 ก.ย. 2567 – นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเป็นกองทุนรวมปิดมีขนาด 100,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวและมั่นคง โดยลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ และต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ  ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน

จากนั้นในปี 2556 บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ล่าสุด ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท และปัจจุบันพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 100,000 – 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นับจากปี 2557 – 2566 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยร้อยละ 3.75 ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้ กองทุนฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนฯ มีกำไรสะสม ประมาณ 142,739 ล้านบาท

กองทุนฯ มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า เงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่ไม่เกินกว่า 9% ต่อปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้

ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากกองทุนฯ จะระดมทุนต่อ จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ขยายระยะเวลาการลงทุน หรือขายคืนหน่วยลงทุน (redeem) ตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หากกองทุนฯ ไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ

โดยกองทุนฯ มีกลไกการบริหารความเสี่ยง จากการกำหนดอัตราส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio “ACR”) โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท  ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า ซึ่งกรณีที่ ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี และกรณี ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ภายในระยะเวลา 90 วัน และเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรการชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดหรือบางส่วน

ดังนั้น จึงเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผล หรือมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตลอดอายุโครงการ จาก NAV ข. ส่วนที่เกินจาก NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่ 300,000 ล้านบาท

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า กองทุนฯ จะเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท โดยแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทยและมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว เบื้องต้นได้กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ 3 – 5 หมื่นล้านบาท และ กลุ่มที่ 2 ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม อีกประมาณ 1 แสน  – 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจัดการและผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนมีสิทธิเปลี่ยนแปลงจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภท และอาจพิจารณาเพิ่มหรือลดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนแต่ละประเภท (Claw back / Claw forward) หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรหน่วยลงทุนตามความเหมาะสม

ปัจจุบันกองทุนฯ ได้รับอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจากผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อย และได้ยื่นหนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุงเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และเผยแพร่หนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปแล้ว พร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 16 – 20 กันยายน 2567 จองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หน่วย หรือ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 หน่วย หรือ 1,000 บาท ณ สำนักงาน สาขา และ/หรือ ช่องทางออนไลน์ (เฉพาะรายที่เปิดจองซื้อทางออนไลน์) ของบริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน รวม 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 6) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 7) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ 8) ธนาคารออมสิน โดยจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน

ในการจองซื้อ ผู้จองซื้อจะต้องชำระค่าหน่วยลงทุนครั้งเดียวเต็มตามจำนวนที่จองซื้อ ที่ราคา 10 บาทต่อ 1 หน่วย โดยผู้จองซื้อที่ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุน ไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ จะได้รับเงินคืนภายใน 7 วันทำการหลังสิ้นสุดการจองซื้อของผู้ลงทุนทุกประเภท สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและใบจองซื้อได้ที่บริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุนทุกราย โดยหน่วยลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจะเป็นรูปแบบไร้ใบหน่วย  (Scripless) ซึ่งสามารถเลือกรับหน่วยลงทุนเข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง หรือฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียนในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ (บัญชี 600) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 จะไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทันวันแรกที่หน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

และหากผู้ลงทุนที่ฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 ต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ก่อน และทำการโอนหน่วยลงทุนจากบัญชี 600 (ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนด) เข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตน เพื่อทำการซื้อหรือขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป นอกจากนี้ ผู้จองซื้อสามารถแจ้งขอออกใบหน่วยลงทุนได้ ภายหลังหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้ฝากหน่วยลงทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หรือบัญชี 600 แล้ว โดยจะเสียค่าธรรมเนียมตามที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD กำหนด

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่หน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ลงทุน ผู้สนใจลงทุน และผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถโอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้อย่างเสรี โดยราคาหน่วยลงทุนประเภท ก. ในตลาดรองจะเป็นไปตามกลไกของราคาตลาด ซึ่งอาจแตกต่างจากมูลค่าที่ตราไว้ ราคาเสนอขาย หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนประเภท ก.

“เชื่อว่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั่วไป ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว ในรูปแบบเงินปันผลตามเงื่อนไขที่กำหนดจากหลักทรัพย์ที่เข้าลงทุน” นายธนโชติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง