เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 19 เดือนที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ

เงินบาทกลับไปเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามการปรับโพสิชั่นของตลาด หลังตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE ของสหรัฐฯ สะท้อนว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 25 bps. ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้

7 ก.ย. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 10 ก.พ. 2566) ตามสถานะซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงขาย หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมามีสัญญาณอ่อนแอ

สำหรับในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน เทียบกับระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 15,496 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,517 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,017 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)

ขณะที่สัปดาห์ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน

ด้านดัชนีหุ้นไทยปิดบวกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 โดยแตะจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือนช่วงท้ายสัปดาห์  หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับเผชิญแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในฝั่งขายสุทธิ และตลาดในภาพรวมยังรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยหุ้นไทยมีแรงหนุนหลักๆ จากเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งครม. และประเด็นเกี่ยวกับการเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่ม นอกจากนี้ SET Index ยังขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1,431.24 จุด โดยมูลค่าการซื้อขายช่วงท้ายสัปดาห์ค่อนข้างสูงทะลุหลัก 100,000 ล้านบาท แตะระดับมูลค่าซื้อขายรายวันสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี 7 เดือน

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,427.64 จุด เพิ่มขึ้น 5.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,737.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.35% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.25% มาปิดที่ระดับ 344.66 จุด

สัปดาห์ถัดไป (9-13 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของจีน ตลอดข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม ยื่นหนังสือค้านกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

กลุ่มมวลชน ซึ่งเป็นตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม