“สรรพากร” โชว์ผลงานปัง 11 เดือนจัดเก็บรายได้พุ่งทะลุเป้า 1.96 ล้านล้านบาท มั่นใจปิดหีบ 67 ผลงานฉลุย แจงเร่งยกเครื่องกฎหมายเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้
6 ก.ย. 2567 – นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 11 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ส.ค.67) ว่า สามารถจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8.48 พันล้านบาท หรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 4.79 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัว รวมถึงมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการ Easy E-Receipt และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.7%
โดยกรมฯ มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2567 จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่ 2.28 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ ได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท เติบโต 4.2% จากปีงบประมาณ 2567
นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมายและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งภาษีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่อยู่ในกรอบความตกลง OECD ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องเสียภาษีในอัตราไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งหากประเทศเราดำเนินการจะสามารถเก็บภาษีดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการออกกฎหมาย
ขณะเดียวกันกรมฯ อยู่ระหว่างเร่งยกร่างหลักการการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศของบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องดูว่านำเงินเข้ามาในประเทศหรือไม่ จากปัจจุบันจะเก็บภาษีต่อเมื่อมีการนำเงินเข้ามาในประเทศ ซึ่งเกิดปัญหาความยุ่งยากในการเสียภาษี เพราะมีกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการนำเงินรายได้เข้ามาในประเทศช้า ไม่ตรงกับปีที่ได้รับรายได้ในต่างประเทศ
“เดิมบุคคลที่มีรายได้จากต่างประเทศและนำเงินเข้าประเทศถึงจะเสียภาษี แต่ในอนาคตหากอยู่ในไทยเกิน 180 วัน แต่มีรายได้จากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีทั้งหมด ซึ่งหากบุคคลนั้นเสียภาษีแล้วในต่างประเทศที่ได้รับรายได้มากกว่าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก แต่หากเสียภาษีน้อยกว่าก็ต้องเสียภาษีในประเทศไทยให้ครบ ทั้งนี้จะต้องมาสำแดงให้ทราบ” นางสาวกุลยา กล่าว
นางสาวกุลยา กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ขณะนี้กรมฯ ได้ร่วมกับผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มต่าง ๆ กำลังพัฒนาระบบ เพื่อจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยหลักการ คือ แพลตฟอร์มจะเป็นผู้นำส่งภาษี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและจะสามารถดำเนินการใช้ได้ในช่วงต้นปี 2568
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในทุกมิติ โดยยังเดินหน้าสารต่อนโยบาย oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM ที่ทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอาการที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ในช่วงปี 2568 กรมฯ จะยกระดับบริการทางภาษีและแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน โดยเปิดให้บริการ One Portal : My Tax โดยจะเริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
“ผู้เสียภาษี หากเข้า My Tax ทีเดียว จะรู้ข้อมูลทุกอย่าง ว่าเคยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไหนบ้าง โดยจะขึ้นโชว์ทั้งหมด และในอนาคตอาจจะไม่ต้องเก็บเอกสารไว้แสดงให้กับกรมฯ เนื่องจากข้อมูลจะเข้ามาทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการเสียภาษีได้อย่างง่ายดาย” นางสาวกุลยา ระบุ