ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่ไม่มากนัก และยากต่อการค้นหา เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลในพื้นที่ไกลฝั่ง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่กลางทะเลที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองซึ่งต้องดูแล รักษา และปกป้อง จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. หรือ PTTEP Ocean Data Platform (https://oceandata.pttep.com) เพื่อเติมเต็มคลังข้อมูลทางทะเลในอ่าวไทย ส่งเสริมความยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG 14: Life Below Water) รวมถึงเป้าหมายในระดับประเทศและองค์กรอีกด้วย
ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งระบบเตือนภัยต่าง ๆ การตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การศึกษากระแสน้ำที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการฟอกขาวและการฟื้นตัวของปะการัง เป็นต้น รวมทั้ง ยังมีข้อมูลโครงการและกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.สผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลภายใน PTTEP Ocean Data Platform มาจากการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต เช่น สถานีตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (Telemetry Marine Monitoring Station) ที่สามารถตรวจวัดและส่งข้อมูลการตรวจวัดตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Data) เช่น ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิอากาศ และข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ (Oceanographic Data) เช่น ความเร็วและทิศทางกระแสน้ำ และอุณหภูมิน้ำ โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระดับความลึกต่าง ๆ จนถึง 10 เมตรจากผิวน้ำ และมีการจัดทำข้อมูลฐานและการตรวจติดตามปริมาณไมโครพลาสติก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บตัวอย่างน้ำทั้งบริเวณใกล้ฝั่งและไกลฝั่งบริเวณอ่าวไทย เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก รวมถึงระบุชนิดและแหล่งที่มาของพลาสติกที่ตรวจพบ ซึ่งการเก็บข้อมูลบริเวณไกลฝั่งจะใช้แท่นปฏิบัติการนอกชายฝั่งของ ปตท.สผ. เป็นสถานีเก็บตัวอย่างน้ำทะเล จากเดิมข้อมูลส่วนนี้จะมีอยู่อย่างจำกัด การใช้แท่นปฏิบัติการของบริษัทเป็นจุดเก็บตัวอย่างน้ำจึงช่วยขยายฐานข้อมูลในส่วนพื้นที่ไกลฝั่งของประเทศ เอื้อให้การวิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณไมโครพลาสติกและการบริหารจัดการขยะบนฝั่งตลอดจนขยะทะเลของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากกล้องใต้น้ำและซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ติดตั้งใต้แท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งสามารถตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลบริเวณขาแท่น เพื่อการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวใต้น้ำดังกล่าว จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถระบุสายพันธุ์สัตว์ทะเลได้ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 85
ในการจัดทำและพัฒนา PTTEP Ocean Data Platform นี้ ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและภาควิชาการ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านโครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ ครอบคลุมการศึกษา วิจัย ตรวจวัด และเผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล
การระบุชนิดสัตว์ทะเลบริเวณขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจากการจับภาพของกล้องใต้น้ำและซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์
ปตท.สผ. มีแผนที่จะขยายการเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์และสุขภาพทางทะเลให้ครอบคลุมแหล่งผลิตอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสนับสนุนการต่อยอดโครงข่ายข้อมูลของทะเลและมหาสมุทรให้มีมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมหรือค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ทะเลจาก PTTEP Ocean Data Platform หรือ แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. ได้ ที่นี่
PTTEP Ocean Data Platform
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
IRPC ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนองค์กรมุ่งเติบโตอย่างยั่งยืน
IRPC คาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาว เช่นเดียวกับกลุ่มปิโตรเคมีที่ความต้องการปรับตัวดีขึ้นจากการเตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช่วงเทศกาลปลายปี
4 CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืน บนเวที SX2024
ความพยายามของประชาคมโลกที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 (Sustainable Development Goals) ในอีก 6 ปีข้างหน้า
ปตท. พร้อมส่งเสริมทักษะนวัตกรรมในชุมชนสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานจัดพิธีมอบ ใบประกาศนียบัตร หลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน รุ่นที่ 10
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร ผู้สำเร็จหลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน (พพช.)
SX BETTER WORLD "ศิลปะสร้างค่า สู่สมดุลโลก"
SX BETTER WORLD "ศิลปะสร้างค่า สู่สมดุลโลก" โซนนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่หลากหลาย สะท้อนมุมมองด้านความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อาทิ ภาพถ่าย จิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานศิลปะอื่น ๆ
"ความยั่งยืน" อาชีพใหม่ของ “มนุษย์ทองคำ” ที่กำลังมาแรงในยุคโลกเดือด ในงาน SX2024
ผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ไทยวา, เอไอเอส ที่ร่วมงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 ชี้ว่า ตลาดแรงงานไทยกำลังต้องการบุคลากรและผู้ประกอบการที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ปตท.สผ. จัดงาน PTTEP KM Week 2024 แบ่งปันองค์ความรู้ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ น.ส.คณิตา ศาศวัตายุ (ขวา)