“แบงก์ชาติ” เปิดรายงานการประชุม กนง. ย้ำอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รับเห็นสัญญาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเริ่มกระจายจากครัวเรือนรายได้น้อยสู่กลุ่มรายได้สูง ลุยหนุนมาตรการค้ำประกัน-ปรับโครงการหนี้อุ้มเอสเอ็มอี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2567 โดยระบุว่า คณะกรรมการ กนง. ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะขยายตัวสมดุลขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและภาคต่างประเทศ แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในบางภาคส่วน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่แรงส่งอาจชะลอกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น รายได้แรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง และ 2.การส่งออกและภาคการผลิตในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าและมีแนวโน้มถูกกดดันต่อ จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง และอาจมีนัยสำคัญต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 และมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้สะท้อนภาวะเงินฝืด (Deflation) และมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคในหมวดอาหารที่สูงกว่า ประกอบกับการปรับราคาของสินค้าราคาถูกมักเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ราคาแพงกว่า
“กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% มีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้ดี และมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น การปรับขึ้นของราคาพลังงานโลกในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงค้างนานจากปัจจัยดังกล่าว” รายงาน ระบุ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง. ยังตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน (Macro-Financial Linkages) คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ อีกทั้งเห็นสัญญาณของการด้อยคุณภาพของสินเชื่อที่เริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่อาจส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อในภาพรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน และจะย้อนกลับมากระทบคุณภาพสินเชื่ออีกครั้ง
“กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.50% ต่อปีอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน โดยพิจารณาว่า 1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และ 2.หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Deleveraging) ควรเกิดขึ้นต่อเนื่อง” รายงาน ระบุ
ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ส่วนเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของเอสเอ็มอีนั้น คณะกรรมการ กนง. ได้ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มดังกล่าว จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท.ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดย คณะกรรมการ กนง. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรียก 'OPPO-Realme' สอบเพิ่มที่ทำเนียบฯ ถึงเวลากำหนดมาตรการลงแอปในโทรศัพท์
'จิราพร' เรียก 'OPPO-Realme' สอบเพิ่มที่ทำเนียบฯ พร้อมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาช่องทางดำเนินคดี ยัน สคบ.พร้อมดูแลผู้เสียหาย เผย มีแจ้งมาแล้ว 9 ราย 'ประเสริฐ' ลั่นถึงเวลากำหนดมาตรการลงแอปในโทรศัพท์ ถาม ธปท.แล้ว แอปฯความสุขยังไม่ได้ขออนุญาตปล่อยเงินกู้