วิทัย รัตนากร ประกาศภารกิจ4ปี 'ออมสิน' ตั้งเป้าลดกำไรสร้างSocial Impactตอกย้ำบทบาทธนาคารเพื่อสังคม!!

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.2567 กระทรวงการคลังได้เห็นชอบการปรับระบบการให้ผลตอบแทน ตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อให้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและช่วยเหลือประชาชนตามพันธกิจให้มากขึ้น “ลดการมุ่งทำกำไรสูงสุดเพียงด้านเดียว” โดยวาระนี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มนำร่องกับ ธนาคารออมสิน ก่อนจะขยายไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ

สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะดำเนินการเปลี่ยน ธนาคารออมสิน จากกลุ่มรัฐวิสาหกิจประเภทจัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส (กลุ่มที่ 2) ไปเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจประเภทที่ใช้ระบบแรงจูงใจด้านโบนัสพนักงานที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การดำเนินนโยบายรัฐ การช่วยเหลือประชาชน (กลุ่มที่ 6)

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ประกอบการเปลี่ยนกลุ่มของ ธนาคารออมสิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นในอนาคต เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างกัน กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการดำเนินงานและผลักดันให้ดำเนินนโยบายตามนโยบายรัฐบาล ให้สอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง และช่วยเหลือประชาชน

ถือเป็นการปรับบทบาทให้กับ ธนาคารออมสิน ในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างเป็นทางการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ยืนยันภารกิจหลักของธนาคารในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” กับภารกิจหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และบรรเทาความยากจน มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ ปักธงสร้าง Social Impact ที่เป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการดำเนินงาน ESG in Action บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่เป้าหมายในการช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ออมสิน ในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม ที่เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” และพันธกิจในการ “สนับสนุนแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”

และภายใต้การนำทัพ ธนาคารออมสิน กับภารกิจเพื่อสังคมของ วิทัย รัตนากร ในสมัยที่ 2 ก็ยังคงจุดยืนในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” เช่นเดิม สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติอนุมัติต่อสัญญาจ้างให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” เป็นสมัยที่ 2 มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบทิศทางการดำเนินงานธนาคารระยะ 4 ปี (2568-2572) ที่ก้าวต่อไปของธนาคารออมสิน ซึ่งจะยังคงจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม

วิทัย เล่าว่า ยังคงตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อขยายผลการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถทำภารกิจและโครงการช่วยเหลือประชาชนและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้น ผ่านบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ 1.บทบาทการเพิ่ม/ขยายโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง 2.บทบาทการแก้ปัญหาหนี้สิน 3.บทบาทการพัฒนาชุมชน/สังคม และ 4.บทบาทการสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนขยายผลการสร้างทั้งในเชิงลึกและวงกว้างมากขึ้น เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนว่าบทบาทการช่วยเหลือสังคมทั้งสี่ด้านนี้มีความสำคัญเหนือกว่าภารกิจการสร้างอัตรากำไรทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่มีการบริหารงานแบบกลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ให้บริการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก, บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPL และ NPA, บริษัท เงินดีดี จำกัด ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลกลุ่มลูกค้าฐานรากผ่านแอปพลิเคชัน Good Money และ บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีสนับสนุนธนาคาร

“ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ที่ได้เห็นชอบการปรับเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถออกมาตรการหรือจัดทำโครงการที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้มากขึ้น อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan), โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงมาตรการลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาหนี้สิน” วิทัย ระบุ

จากความสำเร็จของ “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน ธนาคารออมสิน สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์ผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ เช่น ช่วยประชาชนกลุ่มเครดิตต่ำและไม่มีเครดิตให้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบแล้วกว่า 3 ล้านคน มีผู้เข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแล้วกว่า 5 ล้านคน เป็นต้น

โดยธนาคารมีความมั่นคง แข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ด้วยปริมาณเงินสำรองรวมเพิ่มขึ้นแตะระดับ 125,948 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวม 24 ล้านรายในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสิน จะยังคงเดินหน้าในการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Value) ที่นำปัจจัยทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจเพื่อสร้างกำไรและสร้างรายได้ให้สูงขึ้น และพร้อมที่จะนำกำไรนั้นกลับมาช่วยเหลือสังคม ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

“4 ปีข้างหน้า เราจะลดกำไรเพื่อช่วยสังคม เป็น Target ซึ่งเป็นการลดกำไรลงในระดับที่เหมาะสม แต่ถามว่าระดับที่เหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ ก็คงต้องบอกว่าต้องขึ้นกับกำไรในอนาคตและสถานการณ์ในแต่ละปี อาจจะลดกำไรลง 20-30% แต่ก็จะมีการทำสำรองเพิ่ม เพื่อให้ธนาคารมีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารยังตั้งเป้าหมายในการขยายสินเชื่อให้กับกลุ่มเสี่ยง ทั้งกลุ่มที่เครดิตต่ำ หรือไม่มีเครดิต เนื่องจากยังมีช่องว่างที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดการเป็นหนี้นอกระบบได้อีกทาง พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายในการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนฐานรากราว 2 ล้านคน โดยจะใช้กำไรของธนาคารเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ จะไม่ใช่เงินจากรัฐบาล”

วิทัย กล่าวยืนยันว่า การเดินหน้าภารกิจตามจุดยืนธนาคารเพื่อสังคม และยังคงตั้งเป้าหมายในการขยายผลในการสร้าง Social Impact ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิทัย รัตนากร ประกาศภารกิจ4ปี “ออมสิน” ตั้งเป้าลดกำไรสร้างSocial Impactตอกย้ำบทบาทธนาคารเพื่อสังคม!!

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.2567 กระทรวงการคลังได้เห็นชอบการปรับระบบการให้ผลตอบแทน ตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ