ไทยร่วมมือ 27 ประเทศกระตุ้นสหรัฐต่ออายุโครงการ GSP

ไทยจับมือกลุ่ม A-GSPC ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เรียกร้องสหรัฐฯ เร่งพิจารณากฎหมายต่ออายุโครงการ GSP โดยเร็ว ย้ำ GSP ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ลดต้นทุนให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ผู้บริโภคซื้อของได้ถูกลง และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิ์จากโควิด-19 คาดสหรัฐฯ ปรับเกณฑ์ให้สิทธิ์เข้มขึ้นแน่ ย้ำผู้ประกอบการยังส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ตามปกติ แม้ยังไม่ต่อ GSP  

15 ม.ค.2565  นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งหมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนเพื่อผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการ GSP ซึ่งในส่วนของการดำเนินการของไทย ได้ร่วมกับกลุ่ม Alliance for GSP Countries (A-GSPC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP ที่ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ เช่น ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บราซิล คาซัคสถาน ศรีลังกา ยูเครน เป็นต้น ยื่นหนังสือขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ เร่งพิจารณาร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการ GSP โดยเร็ว

ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการ GSP ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1.ความสำคัญของโครงการ GSP ที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประเทศผู้ได้รับสิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย 2.โครงการ GSP ช่วยลดต้นทุนให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการในสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลางมาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและภาคบริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซื้อสินค้านำเข้าในราคาที่ถูกลงได้ และ 3.จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การต่ออายุโครงการ GSP จะเป็นปัจจัยส่งเสริมและช่วยเหลือนโยบายภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP

นายพิทักษ์กล่าวว่า การต่ออายุโครงการ GSP ครั้งใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการให้สิทธิ์ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ ให้สะท้อนประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ หลักเกณฑ์มูลค่าการนำเข้า (Competitive Need Limit : CNL) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ GSP สหรัฐฯ จะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้ตามปกติ โดยผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ์ GSP จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าจะมีการต่ออายุโครงการ และเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งความประสงค์ในการขอใช้สิทธิ์ GSP ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีที่ชำระไปหรือคืนหลักประกันการนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าภายใต้ GSP เมื่อโครงการได้รับการต่ออายุเรียบร้อยแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์โชว์ 11 เดือน ต่างชาติลงทุนในไทย 2.1 แสนล้าน

ใกล้สิ้นปี…ต่างชาติเข้าลงทุนในไทยไม่แผ่ว 11 เดือน ปี ‘67 ต่างชาติลงทุนในไทย 213,964 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 239 ราย ลงทุน 119,057 ล้านบาท สิงคโปร์ 120 ราย ลงทุน 16,332 ล้านบาท และ จีน 117 ราย ลงทุน 16,674 ล้านบาท