สศอ. เผย ศก. ไทยเริ่มฟื้น ดันดัชนี MPI ก.ค. 2567 ขยายตัว 1.79% รับส่งออกเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ชี้การท่องเที่ยวคึกคัก หนุนกลุ่มอาหาร-ปิโตรเลียม จับตางวดส.ค. หดตัวอีกระลอก
30 ส.ค. 2567 – นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ก.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 96.74 ขยายตัว 1.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.84% โดยสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ตั้งแต่เดือนมี.ค 2565 ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 10.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับมาสู่ภาวะปกติ รวมถึงเทศกาลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ค. อาจจะยังไม่ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือนแรกปี 2567 เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 97.69 หดตัวเฉลี่ย 1.48% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.05% เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่า ขณะที่ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนส.ค. 2567 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้ากับจีน
“เศรษฐกิจโลกแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และการท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 36 ล้านคนในปีหน้า รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การอุปโภคบริโภคและ การลงทุนภาครัฐเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยกดดันอื่น ๆ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าของบางประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรปที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะและภาระด้านสิ่งแวดล้อม การนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ล้นตลาดซึ่งกดดันการแข่งขันในประเทศ อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานและค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปีข้างหน้า”นายกฤศ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนก.ค. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.29% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ผลิตเน้นส่งออกไปอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศและค่าเงินบาทอ่อนตัว ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.70% จากผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และยางผสม เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป อินเดีย และจีน และเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.91% จากผลิตภัณฑ์ครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณภูมิสูงขึ้น