“แบงก์ชาติ” แจงจับตาค่าเงินบาท รับผันผวนจากปัจจัยภายนอก พร้อมเข้าดูแลหากเคลื่อนไหวแรงเกินไป เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. 67 ปรับตัวดีขึ้น อานิสงส์ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” ช่วยกระตุ้น
30 ส.ค. 2567 – นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาจากหลายด้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นในแง่แนวโน้มก็ต้องให้เป็นไปตามทิศทางของโลก เพียงแต่ ธปท. จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่องมากกว่า โดยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป จนส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวรับกับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการภาคธุรกิจ มีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น โดยเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง ภายใต้ภาวะการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2567 โดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเร่งส่งออกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายสินค้าได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปมาเลเซีย แผงวงจรรวมไปมาเลเซียและยุโรป รวมทั้งคอมพิวเตอร์ไปไต้หวันและฮ่องกง, สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย และยางสังเคราะห์ไปจีน และผลิตภัณฑ์เคมีและปิโตรเคมีภัณฑ์ จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายกำลังการผลิตสารเคลือบเคมีในอินเดียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางหมวด
ปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ รถกระบะไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางและอินเดียปรับลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย จีน รัสเซีย และเยอรมนี สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติรัสเซียและเยอรมนี
ด้านดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ จากการผลิตเพื่อรอส่งออก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขนส่งจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, หมวดยางและพลาสติก ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้น และหมวดอื่นๆ จากการผลิตเครื่องจักร อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้าและหม้อแปลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลง หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อนหน้า
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร ประกอบกับหมวดสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น หลังลดลงมากในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนปรับลดลงตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่องจากความกังวลด้านค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ โดยยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ เลี่ยงตอบปม 'แบงก์ชาติ' ติงแจกเงินหมื่นเฟส 3
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนั