'คลัง' เข็นมาตรการหนุนธุรกิจสีเขียว ปักธง 'มาตรการสินเชื่อ-ภาษีจูงใจ'

“คลัง” ลุยเข็น 2 มาตรการหนุนผู้ประกอบการไทยยืนหนึ่งธุรกิจสีเขียว ปักธง “มาตรการสินเชื่อ-ภาษี” จูงใจ ชูใครรักโลกจ่ายน้อย ใครทำลายโลกคนนั้นต้องจ่ายมากกว่า โอดเอกชนไทยยังปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวต่ำ กระทุ้งรัฐเร่งช่วยเหลือ

29 ส.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวปาฐกถา ในงาน FPO Symposium 2024 “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ว่า ปัจจุบันพบว่าภาคธุรกิจของไทยมีการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวซึ่งเป็นเทรนสำคัญของโลกค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน และสร้างจูงใจ ผ่านเครื่องมือที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ทั้งมาตรการทางการเงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และมาตรการทางภาษี โดยในส่วนของมาตรการจูงใจด้านภาษี ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของครม

ทั้งนี้ คําว่าเศรษฐกิจสีเขียวอาจไม่ได้เรียกว่า เป็นความจําเป็น แต่เป็นความอยู่รอด หากไม่ทํา คืออยู่ไม่รอด ถ้าทําดี อาจจะอยู่รอด ซึ่งความอยู่รอดมันแบ่งเป็นสองด้าน ได้แก่ ด้านแรก คือ มิติความอยู่รอดทางด้านชีวิตและสุขภาพ ดังนั้น เราต้องเดินไปเพื่อที่จะทําให้เราชีวิตและสุขภาพเราอยู่รอดได้ และด้านที่สอง คือ มิติของการอยู่รอดทางด้านธุรกิจ ซึ่งในโลกในปัจจุบันผูกสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ธุรกิจนำเอาสิ่งที่เป็นความจําเป็นทางด้านสุขภาพมาผูกกับเรื่องของการทําธุรกิจและสร้างเป็นเงื่อนไขในการทําธุรกิจ โดยสิ่งเหล่านี้กําลังจะเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันเราจะเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ใช้เนื้อหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมาผูกกับการทําธุรกิจ เราเห็นเรื่องของ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป และมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ ที่จะทําให้สินค้าและบริการที่ไม่ตอบสนองโลกสีเขียวนั้นแพงขึ้นแข่งขันได้ยากขึ้นและมีคนใช้น้อยลง หมายความว่าถ้าธุรกิจไหนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ธุรกิจไหนทําลายโลก ตรงข้ามกับธุรกิจสีเขียว จะแข่งขันไม่ได้ การแข่งขันจะแพงขึ้นไม่สามารถสู้กับต้นทุนที่แพงขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ และล้มตายในที่สุด ดังนั้นจะเห็นว่า ทั้งในมิติของภาคประชาชนที่จะต้องปรับตัว และในมิติของธุรกิจที่จะต้องปรับตัวไปสู่โลกสีเขียว นั่นคือ ภาวะบังคับไม่ใช่ภาวะสมัครใจ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ในมิติของภาครัฐ ซึ่งมีนโยบายทางการคลังอยู่ในมือ และมีนโยบายทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จึงต้องเข้ามาสนับสนุน สร้างแรงจูงในให้กับภาคธุรกิจ ไม่สามารถปล่อยให้เอกชนปรับตัวไปเองโดยที่รัฐไม่ทำอะไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ธุรกิจในประเทศไทยปรับตัวได้ช้ากว่าคนอื่น เมื่อปรับตัวได้ช้า จึงไม่สามารถแข่งขันได้ตามมาด้วยธุรกิจล้มตาย เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนหรือผลักดันหรือใช้มาตรการที่เป็นแรงจูงใจทําให้ภาคเอกชนนั้นสามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้

โดยในส่วนของสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีมาตรการหลัก ๆ อยู่ 2เรื่อง ได้แก่ มาตรการทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งจะมีการที่จะหารือกันในรายละเอียด ว่าจะนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น ควรมีมาตรการสนับสนุนออกมาในลักษณะใด

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตราการทางด้านการเงินที่คลังได้ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในเกือบทุกสถาบันการเงินของรัฐ ได้มีมาตรการที่เข้าไปส่งเสริมช่วยการปรับตัวของภาคเอกชนสู่เศรษฐกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปช่วยเอกชนในการสนับสนุนเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว สะท้อนจากพอร์ตสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (กรีนบลู) ทั้งบนบกและในทะเลตอนนี้มีถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของสถาบันการเงินทั้งประเทศ ขณะที่ธนาคารอื่น ๆ ก็ได้ดําเนินการเช่นเดียวกัน อาทิ ธนาคารออมสิน มีสินเชื่อต่าง ๆ ที่จะไปสนับสนุนภาคเอกชนในการปรับตัวในการเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่หนุนปรับตัวเข้าไปสู่เรื่องของอีวี

อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตราการทางด้านภาษี สศค.ได้ให้ความสําคัญด้านสร้างแรงจูงใจใครรักโลกจ่ายน้อยกว่า ใครที่ทําลายโลกคนนั้น ก็ต้องจ่ายมากกว่า ไม่เช่นนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ก้าวไปสู่โลกสีเขียวได้แล้ว ก็จะเป็นผู้อยู่รอด แต่เอสเอ็มอีปัจจุบันไม่มีแรง ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ปรับตัวไม่ทันเสร็จกลายเป็นผู้ล้มตาย

เพิ่มเพื่อน