ส่งออกเดือน ก.ค.67 เพิ่ม 15.2% พลิกกลับมาเป็นบวก เติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน

“พาณิชย์”เผยการส่งออกเดือน ก.ค.67 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.2% พลิกกลับมาเป็นบวก และเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน เหตุส่งออกเพิ่มทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม รวมยอด 7 เดือน มูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.8% ยันเป้าทั้งปีตามเป้า 1-2% มีลุ้นแตะกรอบบนที่ 2%  

27 ส.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค.2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.2% กลับมาขยายตัวเป็นบวก และเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 938,285 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 999,755 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 61,470 ล้านบาท รวม 7 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,129,300 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,437,235 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 307,935 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 8.7% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 3.7% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 14.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และเครื่องดื่ม ทั้งนี้ 7 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เพิ่ม 4%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 15.6% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องยนต์สันดาปภายในลูกสูบและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 7 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.8%

ทางด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี โดยตลาดหลัก เพิ่ม 16.2% ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และ CLMV เพิ่ม  26.3% 17.1% และ 19.8% ตามลำดับ จีน เพิ่ม 9.9% และอาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 17.8% แต่ญี่ปุ่น ลด 2.5% ตลาดรอง เพิ่ม 4.6% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 29.5% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 4.4% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 0.5% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 13.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย ลด 2.8% ตะวันออกกลาง ลด 3.7% แอฟริกา ลด 6.7% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 331.3%

“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค.กลับมาขยายตัว มาจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย โดยตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว”นายพูนพงษ์กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก เดือน ส.ค.2567 คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 5 เดือน หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีก็จะอยู่ในกรอบเป้าบน คือ ที่ 2% จากเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ เงินบาทที่แข็งค่า เพราะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกพอสมควร ทำให้แข่งขันเรื่องราคาได้ยากขึ้น และต้องดูปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังยืดเยื้อ ทั้งตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องค่าระวางเรือ ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องหนักใจ แม้ว่ายังอยู่ในระดับสูง ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่วนค่าระวางไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า ไปอเมริกา เริ่มอ่อนตัวลง ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงพอ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้กำไรลดลง แต่คำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาช่วงปลายปีถึงปีใหม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ สำหรับเป้าส่งออกทั้งปี มั่นใจว่า จะทำได้ตามเป้า 1-2% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก