‘สภาพัฒน์’เผยหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นมาที่ 2.99% เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ แนะจับตาประเด็นการกู้เงินนอกระบบบนโซเชียลมีเดีย ส่วนอัตราว่างงานไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังฟื้นตัวจากโควิด
26 ส.ค.2567-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/2567 หนี้สินครัวเรือน ไตรมาส 1 มีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อน ไตรมาส 4/2566 และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ที่ 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงโควิด-19นั้น เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องรายได้กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งต้องมีมาตรการใช้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ปัญหา ถ้าแก้แล้วเกิดเพราะจะเกิดประเด็นอันตรายบนศีลธรรม (Moral Hazard) ให้เกิดขึ้นในสังคมได้ควรมีมาตรการช่วยสร้างรายได้ อาจเป็นการลงทุนของรัฐที่จะช่วยสร้างการจ้างงาน สร้างรายได้บุคคล
ส่วนมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่1. การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนม.ค. 67 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วน ไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน 2. รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งนั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. ว่ามาตรการนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ถ้าลดเงินนำส่งครึ่งหนึ่ง ก็จะต้องใช้เวลาในการชดใช้หนี้ FIDF ยืดออกไประยะหนึ่ง และอยู่ที่ว่าจะนำเงินที่ได้จากส่วนที่ต้องชำระให้ FIDF ลดลงนี้ไปใช้ช่วยแก้หนี้ครัวเรือนในด้านใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียให้ดี ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นที่เคยพูดคุย และเป็นแนวคิดหนึ่งที่เป็นทางเลือกอยู่ ต้องไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม
สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/2567 ภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 2ลดลง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.5 ล้านคนการจ้างงานที่ลดลง เป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัว 1.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 4.9% สาขาขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 9% และสาขาการผลิตเพิ่มขึ้น 2.2% นอกจากนี้ ยังเห็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรก หลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07% โดยมีผู้ว่างงาน 430,000 คน เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่1. การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
2. ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้ และ3. ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากความรุนแรงของน้ำท่วมในครั้งนี้ยังไม่จบ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด จึงต้องดูปริมาณน้ำกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมว่ากระทบกับพื้นที่เพาะปลูกมากน้อยเท่าไร และมีพืชอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ ถึงจะสามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้ แน่นอนว่า หากมีผลกระทบจากน้ำท่วม จะต้องมีการลงทุนทั้งการปรับปรุงก่อสร้าง ต้องมีมาตรการซัพพอร์ต จากการติดตามจากข่าวคือประชาชนหลายคนไม่คิดว่าน้ำจะมาเยอะขนาดนี้ ดังนั้น ความเสียหายในแง่บุคคลค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอิสระ ที่เปิดร้านค้าต่าง ๆ อาจต้องดูมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ขณะที่เกษตรกร ในแง่ของการช่วยเหลือด้านสินเชื่อต่าง ๆ ก็ต้องสำรวจความเสียหายก่อนว่าขนาดไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน