แพทย์เตือนสาวๆ ยุคใหม่ 'ซีสต์รังไข่ ..อันตรายกว่าที่คิด' ตัวการโรคร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง

แพทย์เตือนสาว ๆ ยุคใหม่ “ซีสต์รังไข่..อันตรายกว่าที่คิด” ตัวการโรคร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง   พบสถิติหญิงป่วยเป็นซีสต์รังไข่พบได้ 15% ของจำนวนประชากรผู้หญิงทั่วประเทศ หากพบสัญญาณผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก มีเพศสัมพันธ์แล้วรู้สึกเจ็บ รู้สึกท้องโตขึ้น หรือคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย ต้องรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้ “อันตรายถึงชีวิต”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์ สูติ-นรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า “รังไข่” เป็นอวัยวะชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กเท่านิ้วหัวแม่มือ รังไข่มีหน้าที่ผลิตฟองไข่ และมีการตกไข่ ในแต่ละรอบจังหวะที่มีการตกไข่ร่างกายจะสร้างถุงน้ำขึ้นมา หลังจากไข่ตกถุงน้ำก็ยุบ  ซึ่งอันนี้คือถุงน้ำรังไข่ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกเดือน กรณีที่มีการตกไข่ที่ผิดปกติ ตัวอย่างเช่น 1. มีถุงน้ำมีไข่แล้วแต่ไม่ตก หรือ 2. ไข่ตกไปแล้ว ถุงน้ำไม่ยุบ อันนี้ก็เป็นถุงน้ำทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้     

สำหรับซีสต์รังไข่ หรือ ถุงน้ำรังไข่ มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ 1. ซีสต์ที่เกิดจากการรังไข่ที่ทำงานบกพร่อง 2. ซีสต์เนื้องอก มีลักษณะเป็นก้อนมีน้ำใส หรือน้ำขุ่นอยู่ด้านใน 3. ซีสต์ที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีน้ำขุ่นผสมเลือดเก่า หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ 4. ซีสต์ที่มีเนื้อเยื่อลักษณะเหมือนเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cysts) เช่น เนื้อเยื่อผิวหนัง ไขมัน ผม และฟัน และ 5.มะเร็ง ซึ่งจะมีองค์ประกอบของน้ำและก้อนเนื้อเยื่อต่าง ๆ

ทั้งนี้ ซีสต์รังไข่ เป็นภัยใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนต้องระวัง ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิงป่วยเป็นซีสต์รังไข่ พบได้ 15% ของจำนวนประชากรผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือน ในบรรดาซิสต์หรือถุงน้ำรังไข่ทั้งหมด จะพบว่าผู้หญิงจำนวน 30-35% ตรวจพบซีสต์ที่เกิดจากรังไข่ทำงานบกพร่อง ตรวจพบเนื้องอกที่รังไข่ ประมาณ 20%  ซีสต์ที่เกิดจากเนื้อเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์ ประมาณ 15% ซีสต์ที่มีลักษณะเหมือนเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 15% และตรวจซีสต์มะเร็ง ประมาณ 1-5% ซึ่งจากสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือนทุกช่วงอายุ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็น “ซีสต์รังไข่”

สัญญาณของโรค “ซีสต์รังไข่” ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นซีสต์รังไข่ จะไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น จะรู้อีกทีเมื่อตอนมาตรวจสุขภาพร่างกาย หรือซีสต์มีขนาดโตมากขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเมตร จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อย รู้สึกหน่วงท้อง ประจำเดือนจะเริ่มผิดปกติ มาไม่ตรง มา ๆ หยุด ๆ กะปริบกะปรอย หากก้อนซีสต์โตขึ้นจะไปเบียดอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้คนไข้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ทำให้การขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูก หากพบสัญญาณเหล่านี้ให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว จะมีอาการปวดท้องกะทันหัน ปวดรุนแรง คนไข้อาการรุนแรงมาก หรือในกรณีถุงน้ำรังไข่มีอาการปริ แตก จะมีการตกเลือดในช่องท้อง อาจจะเป็นลม ช็อกหมดสติ ถ้าวินิจฉัยไม่ทันอาจจะทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ “ซีสต์รังไข่” อาจจะเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นกลุ่มช็อกโกแลตซีสต์ เป็นสาเหตุหลักกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ป่วยสตรีที่มาปรึกษามีบุตรยาก เกิดจากช็อกโกแลตซีสต์ไปทำลายรังไข่ส่วนที่ดี คุณภาพไข่แย่ลง มีการตกไข่ที่ผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้องรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ช็อกโกแลตซีสต์อาจทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน เป็นสาเหตุร่วมของการมีบุตรยาก

สำหรับขั้นตอนการรักษา ซีสต์รังไข่ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย สำหรับผู้หญิงโสดจะเป็นตรวจวินิจฉัยด้วยการทำอัลตร้าซาวด์หน้าท้อง หากเป็นผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจอัลตร้าซาวด์ผ่านช่องคลอด เนื่องจากเป็นการตรวจที่ให้ภาพคมชัดกว่า เพื่อตรวจดูว่าซีสต์ที่เกิดขึ้นเป็นประเภทไหน ซีสต์มีขนาดเท่าไร ถ้าเป็นถุงน้ำปกติที่ไม่อันตราย ก็ติดตามอาการ ทุก 3-6 เดือน หากตรวจพบว่าเป็นซีสต์เนื้องอก ต้องทำการผ่าตัดรักษาทันที ส่วนถ้าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ก็ต้องทำการผ่าตัดเช่นกัน กรณีมีการบิดขั้ว และปริแตก มีเลือดออก ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินทันที

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแพทย์ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธี ผ่าตัดในยุคก่อนไม่มีกล้อง ก็ต้องเปิดหน้าท้องทุกคนเหมือนผ่าคลอด เพื่อไปเอาถุงน้ำออก, ถุงช็อกโกแลตซีสต์ออก, ซีสต์ที่เป็นเนื้องอกออก พร้อมเลาะพังผืด แต่ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือ การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช เป็นการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็กๆ บาดเจ็บน้อย ด้านความสวยงามจะมีแผลเป็นรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง เป็นการผ่าตัดเสียเลือดน้อยคนไข้ไม่ต้องพักฟื้นนาน สามารถกลับไปทำงานตามปกติได้เร็ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน

ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ