เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 13 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปิดบวกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดช่วงปลายสัปดาห์

24 ส.ค. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาททยอยแข็งค่าในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีของไทยที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด (Thai GDP +2.3% YoY ในไตรมาส 2/67 สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.2% YoY และสูงกว่า +1.6% YoY ในไตรมาส 1/67) ขณะที่ Sentiment ของ เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกก็เพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาบางส่วนช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังจากกนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ 2.50% ตามที่ตลาดคาด ประกอบกับตลาดเริ่มทยอยซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดที่งานสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮลช่วงปลายสัปดาห์ นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกหลุดระดับ 2,500 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ สวนทางการฟื้นตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็มีส่วนชะลอการแข็งค่าของเงินบาทด้วยเช่นกัน 

ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,948 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,616 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 4,128 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 512 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (26-30 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ตัวเลขการส่งออก และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ค. ของไทย รวมถึงสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 (Prelim.) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากปัจจัยบวกในประเทศ  หุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆมาจากรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทยที่ขยายตัวได้ 2.3% YoY ซึ่งดีกว่าตลาดคาดการณ์ ประกอบกับนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นการเมืองในประเทศและกลับมาคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ โดยประเด็นดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นในทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ แบงก์และค้าปลีก นอกจากนี้หุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดด้วยเช่นกัน

หุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ที่มีประเด็นบวกเพิ่มเติมจากการที่กนง. มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุดและการประกาศจ่ายเงินปันผลของกลุ่มแบงก์ อนึ่งนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากซื้อสุทธิหุ้นไทยติดต่อกันได้ 2 สัปดาห์

ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,354.87 จุด เพิ่มขึ้น 3.98% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,552.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.24% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.02% มาปิดที่ระดับ 329.40 จุด

สัปดาห์ถัดไป (26-30 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,340 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,365 และ 1,375 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนก.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค.ของยูโรโซน รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของญี่ปุ่น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' นำภาครัฐ เอกชน ทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 1.2 ล้านชิ้น

“ภูมิธรรม”นำภาครัฐ เอกชน ทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 1.2 ล้านชิ้น มูลค่า 325 ล้านบาท สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า นักลงทุน เจ้าของสิทธิ์ สินค้าปลอมจะไม่กลับคืนสู่ตลาดอีก และดูแลผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน

SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4

กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้