'สภาพัฒน์' เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 โต2.3% ทั้งปีคาดขยายตัว 2.3–2.8%

‘สภาพัฒน์’แถลงจีดีพีไทยไตรมาส 2/67ขยายตัวได้ 2.3% ทั้งปีคาดจีดีพีขยายตัวได้ 2.3 – 2.8% ค่ากลาง 2.5%  ส่วน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ย้ำหากไม่ทำควรหามาตรการอื่นกระตุ้นเศรษฐกิจแทน

19 ส.ค.2567-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 2.3%เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่2/ 2567ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2567  0.8 % รวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%

ทั้งนี้ ได้รับอานิสงค์จาการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2%  ขณะที่จีดีพีนอกภาคเกษตรขยายตัวได้ 2.6% จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 1.8% และกลุ่มบริการที่ขยายตัวได้ 1.8% 

สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 27.7% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 19.2 %ในไตรมาสก่อนหน้า และ 24.3 %ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมครึ่งแรกของปี 2567 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.4 %ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง 0.9%

ส่วนด้านการลงทุนรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม 6.2%โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8%ตามการลดล่งของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 81%สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ 22.5 %และการชะลอตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลง  2.2 %ตามการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ

ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07%สูงกว่า 1.01%ในไตรมาสก่อนและสูงกว่า 1.06%ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7%และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4%ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (93.7 พันล้านบาท เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.54 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.5%ของ GDP

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.3 – 2.8 %(ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 1.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 3.การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 4.การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 90.8% ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 90.7%  ซึ่งในระยะต่อไปอาจจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการพุ่งเป้าในการเข้าไปช่วยดูแล ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อยานยนต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย เนื่องจากไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน โดยจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเริ่มปรังทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดกับไทย และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสหรัฐ ที่อยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง แต่มองว่า การค้าระหว่างประเทศจะมีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดว่านโยบายภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้วจะเป็นอย่างไร

นายดนุชา กล่าวว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ2.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดย 4.การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษีหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ เช่นสินค้าจีนที่มีราคาถูก

5.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 6.การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ลานีญาอันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 7.การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ และ8.การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก

นายดนุชา กล่าวถึงมาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทวอลเล็ต ว่าต้องอยู่ที่ตัวรัฐบาล แต่ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องีมาตรการอื่นเข้ามาเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ดังนั้น จะต้องติดตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าจะมีความเห็นอย่างไร

“หากไม่มีมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องดูทรัพยากรที่มี ว่าจะใช้มาตรการลักษณะไหนให้เกิดการทำงานได้ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องดูช่วงเวลา ทรัพยากรที่มี ส่วนหนึ่งแน่นอนจะต้องมีมาตรการออกมาในช่วงแรก และช่วงถัดไปว่าจะมีผลกระทบจากภายนอกอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องหารือกันกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)” นายดนุชา กล่าว

เพิ่มเพื่อน